เปิดใจ
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเมื่อวานนี้ (2 ก.ค.)ได้เข้าไปให้ข้อมูล กับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ เเละอุตสาหกรรม วุฒิสภาเรื่องโครงการรับจำนำข้าว วันนี้ (3 ก.ค.) ได้เปิดใจกับไทยพีบีเอส ถึงเรื่องผลการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว
น.ส.สุภา ออกตัวว่า ข่าวการให้ข้อมูล ของเธอกับกรรมาธิการนั้น ออกมาแรงเกินไป เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าการรับจำนำข้าวมีความเสี่ยง ให้เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน แต่ข้อเสนอของ น.ส.สุภา ที่เผยกับ ไทยพีบีเอส วันนี้ (3 ก.ค.) ก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเเละท้าทายกระบวนการตรวจสอบโครงการจำนำข้าวหลายประเด็น
สำหรับการดำเนินโครงการจำนำข้าว มีคำถามตามมา มากมาย ว่าแท้จริงแล้วข้าวเปลือกที่เข้าโครงการมีจำนวนเท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ และอยู่ในสต๊อกเท่าไหร่กันแน่
เรื่องนี้มีความคลุมเครือมาโดยตลอด ไม่เฉพาะปริมาณข้าวเปลือกเท่านั้น ยังรวมไปถึงมีวิธีเก็บรักษาอย่างไร น.ส.สุภา เสนอวิธีโดยให้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในการดำเนินโครงการเพื่อลดปัญหาทุจริต
น.ส.สุภา ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในเรื่องการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งเป็น ต้นน้ำ ของโครงการ โดยล่าสุดขึ้นทะเบียนเกษตรกร โครงการรับจำนำข้าว ปี 2555/ 2556 รอบแรกนาปี มีทั้งหมด 3,196,000 ครัวเรือน มีข้าวเข้าโครงการประมาณ 15,000,000 ตัน ใช้งบประมาณ 240,000 ล้านบาท
ส่วนรอบ 2 มีเกษตรกร ขึ้นทะเบียน 590,000 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ มีข้าวเปลือก เข้าโครงการแล้ว 5,000,000 ตัน จ่ายเงินไปแล้ว 67,000 ล้านบาท จากเป้าหมายรับจำนำ 7,000,000 ตัน วงเงิน 105,000 ล้านบาท จำนวนตรงนี้สำคัญ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า จำนวนเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนกับจำนวนผลผลิตที่เข้าสู่โครงการนี้มีความสอดคล้องกันหรือไม่
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าวและมุมมองต่าง ๆ ของ คณะกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว นางสาวสุภา ได้เสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนประเด็นการทุจริตในภาพรวมนั้นทาง คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. เตรียมเชิญ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวมาให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการไต่สวน ของ ป.ป.ช.ในประเด็นเกี่ยวกับการขาดทุนของโครงการว่ามีตัวเลขชัดเจนอย่างไรในเร็ว ๆ นี้