ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สะท้อนภาพ "โลกาภิวัตน์" ผ่านการประกวดจิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ 3

Logo Thai PBS
สะท้อนภาพ "โลกาภิวัตน์"  ผ่านการประกวดจิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ 3

ผลงานศิลปะไม่เพียงแสดงเอกลักษณ์ของผู้เขียน แต่แนวความคิดยังหลอมรวมจากสิ่งรอบตัว ทำให้หลายชิ้นเป็นกระจกสะท้อนภาพสังคมในเวลานั้น เช่นเดียวกับผลงานที่ชนะการประกวดจิตรกรรมในหัวข้อ "โลกาภิวัตน์"

ท่ามกลางความหม่นหมองของตึกรามบ้านช่องยุคใหม่ สถาปัตยกรรมไทยยังมีแสงทองอ่อนๆให้สัมผัสได้ถึงความหวัง ภาพเขียนสีอะคริลิคฝีมือ อภิพล เตชะมังคลานนท์ สื่อว่า แม้ความเจริญทางวัตถุจะทำให้บ้านเมืองเสื่อมโทรมไปเพียงใด แต่ยังมีพื้นที่น้อยนิดพอเหลือให้ศิลปวัฒนธรรม 

 
ศิลปินได้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตในเมืองหลวงที่ทันสมัย แต่วุ่นวายและอึดอัด หากยังมีศาสนสถานยืนหยัดทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เมื่อโดดเด่น ทั้งแนวคิดและการเขียนสีขาวดำได้อย่างมีพลัง ทำให้ผลงาน "ความหวังบนซากแห่งอารยธรรม" ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม จากการประกวดจิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ 3 หลังขับเคี้ยวกับผลงานส่งประกวดเกือบ 200 ชิ้น ภายใต้หัวข้อ "โลกาภิวัตน์" 

    

 
ไม่เพียงให้เจ้าของชิ้นงานได้ขบคิดตีความ แต่การกำหนดหัวข้อ "โลกาภิวัตน์" ยังทำให้ผลงานที่คัดเลือกมา 55 ชิ้นจัดแสดงร่วมสมัยกับสภาพการณ์ในวันนี้ ไม่ต่างจากเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ที่ภาพหม้อหุงข้าวไฟฟ้าในบ้านเรือนไทย คือตัวแทนความทันสมัยที่เข้ามาในสังคมไทยยุคนั้น เป็นผลงานที่ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ เขียนขึ้นในชุดเดียวกับงานที่ได้รางวัลใหญ่ครั้งแรกในชีวิต ที่ 1 เหรียญทอง การประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ปี 2520 แสดงให้เห็นว่า งานศิลปะมักสะท้อนสิ่งรอบตัวของศิลปินเสมอ จึงเป็นเหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยภาพวาด 
 
หลายชิ้นงานพูดถึงความเป็นไทยที่เริ่มจางหาย นั่นหมายถึงศิลปินรุ่นใหม่ตระหนักได้ถึงปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ และหวังให้ผู้ชมชาวไทยไม่หลงไปกับการพัฒนาจนลืมรากเหง้าของตัวเอง ภาพเขียนโลกาภิวัตน์จากการตีความที่แตกต่างของศิลปิน 55 ชิ้น จัดแสดงในนิทรรศการจิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ 3 ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถึงวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง