เปิดห้องกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
วันจันทร์ทรงผ้าเหลืองอ่อน ทรงสะพักแพรสีน้ำเงิน วันอังคารทรงผ้าสีม่วงอ่อน ทรงแพรสีโศก ข้อความในบันทึกความทรงจำในหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ชี้ให้เห็นการแต่งกายสีตามวันเพื่อความเป็นมงคลของสาวชาววังในรัชกาลที่ 5-6 สะท้อนวิถีความเชื่อแบบไทยที่มักเชื่อมโยงหลายสิ่งเข้ากับเรื่องโชคลาง ทั้งแสดงความพิถีพิถันของคนโบราณที่เลือกแล้วว่าคู่สีแบบนี้เข้ากันได้ดีใส่แล้วสวยงาม นำมาย้อนวันวานให้ได้ชม พร้อมโอกาสให้คนยุคใหม่ได้ปฏิบัติจริง ในมุม "นุ่งห่มสไบ แต่งกายสีตามวัน" ของห้องกิจกรรม พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
การนุ่งห่มสีตามวันเป็นหลักการแต่งกายของสาวชาววังในอดีตที่ถือว่าจับคู่สีได้ลงตัว แต่ถ้าจะให้จำคู่สีตามวันได้ทั้งหมดอาจจะยากซักหน่อย ในห้องกิจกรรมเลยมีมุมหนึ่งให้ได้ลองจำด้วยการแต่งตัวจริงๆแบบนี้ ซึ่งไม่ต้องกังวัลว่าจะแต่งเองไม่ได้เพราะเรามีผู้ช่วยอย่างที่เห็นอยู่
ลายอาข่า ลายผ้าจก ลายปอ ต่างชื่อต่างที่มาลายผ้าจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยิ่งในกิจกรรม "ตราประทับลายผ้า" ยิ่งเห็นลวดลายชัดเจนขึ้นเมื่อประทับลงบนกระดาษ ไม่เพียงให้ผู้ชมเก็บไว้เป็นที่ระลึก หากภายใต้ลายงามยังมีเรื่องราวชวนค้นหาอย่าง ขิดลายสมเด็จ รูปดอกแก้วในกรอบเรขาคณิต เดิมอยู่บนหมอนขิดภาคอีสาน ที่ชาวบ้านมักทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระราชินิฯครั้งเสด็จฯเยี่ยมราษฎร เมื่อทอดพระเนตรเห็นความงาม จึงได้มีพระราชดำริให้ถอดลายมาทอผ้าให้หน้ากว้าง และตัดเป็นฉลองพระองค์สวมใส่เป็นประจำ จนเป็นลายผ้าสร้างชื่อให้จังหวัดอุดรธานี การอนุรักษ์ผ้าทอไทย เป็นพระราชกรณีกิจสำคัญของสมเด็จพระราชินีฯ ที่ไม่เพียงสร้างได้ให้เจ้าของภูมิปัญญา แต่ยังกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ไม่ละทิ้งหัตถกรรมไทย
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ตั้งอยู่ที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมหาราชวัง เป็นที่เก็บรักษาและเผยแพร่ความรู้ด้านผ้าไทย ผ่านเครื่องแต่งกายในราชสำนัก รวมทั้งฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งนิทรรศการหลักส่วนใหญ่จับต้องไม่ได้ จึงเปิดห้องกิจกรรม ชั้น 1 เป็นอีกพื้นที่ให้การทบทวนความรู้สนุกขึ้นด้วยการสัมผัสจริง