ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"อย."เตรียมปรับปรุงกฎหมาย กำหนดปริมาณสารรมยา"ข้าว"

เศรษฐกิจ
18 ก.ค. 56
14:17
193
Logo Thai PBS
"อย."เตรียมปรับปรุงกฎหมาย กำหนดปริมาณสารรมยา"ข้าว"

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.เตรียมปรับปรุงกฏหมาย กำหนดปริมาณสารรมยาที่ตกค้างในข้าว ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามมาตรฐานสากล หลังจากที่มูลนิธิผู้บริโภคสุ่มตรวจตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุง และพบว่ามีข้าว 1 ยี่ห้อที่มีปริมาณสารรมยาเกินมาตรฐาน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการค้าข้าวเสื่อมคุณภาพอย่างเป็นทางการ พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพข้าวเชิงรุก

โครงสร้างของศูนย์ป้องกันและปราบปรามการค้าข้าวเสื่อมคุณภาพหรือ ศป.ขส. จะมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมาตรการที่จะดำเนินการเป็นอันดับแรกคือ ติดตามตรวจสอบคุณภาพข้าวทั้งข้าวสารบรรจุถุงและข้าวในโกดัง ซึ่งจะตรวจทั้งข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว หากพบคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน จะดำเนินการตามกฎหมาย

กรณีสารรมยา"เมทิล โบรไมด์" ตกค้างในข้าวขาวพิมพา ยี่ห้อโคโค่ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ ระบุกำลังรอผลการตรวจสอบซ้ำ พร้อมกล่าวว่าในปี 2558 สารดังกล่าวจะถูกยกเลิกห้ามใช้ตามประกาศของกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนไปใช้สารตัวอื่นที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแทน

ด้านนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุเตรียมเสนอปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ฉบับที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยจะกำหนดปริมาณสารรมยาในข้าวต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วยสารเมทิลโบรไมด์, ไฮโดรเจนฟอสไฟด์ หรือ ฟอสฟีน และซัลเฟอริล ฟลูออไรด์ ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือ Codex และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศ ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันที

ส่วนการเรียกร้องจากหน่วยงานรัฐและสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง ที่ต้องการให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยชื่อห้องทดลอง ที่มูลนิธิฯส่งตัวอย่างข้าวตรวจสอบ แต่มูลนิธิฯระบุไม่สามารถเปิดเผยได้ พร้อมยืนยันเป็นห้องทดลองที่ได้รับรองมาตรฐาน จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) สมาคมผู้ค้าข้าวถุง และผู้บริหารบริษัทผลิตข้าว จะหารือร่วมกับมูลนิธิฯ ถึงรายละเอียดผลการทดสอบ รวมถึงแนวทางพัฒนาคุณภาพข้าวสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง