วิเคราะห์ผู้ก่อเหตุรุนแรง ในช่วงเดือนรอมฎอน
เสียงกระสุนปืนขนาด 9 มิลลิเมตร และร่องรอยกระสุนบริเวณบันไดทางขึ้นอาคารมัสยิดดารุลอามาน บ้านเกาะตา อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี อยู่ในความทรงจำของชาวบ้านหลายคนที่มาละหมาดเมื่อคืนที่ผ่านมา (17 ก.ค.2556) แต่หลายคนเข้าใจ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มก่อกวนที่ต้องการสร้างความแตกแยกระหว่างคนต่างศาสนา เห็นได้จากพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุที่เลือกใช้อาวุธปืนพกสั้นยิงเข้าใส่โดยไม่มีเป้าหมาย และเลือกเวลาที่มีผู้คนอยู่ในมัสยิดน้อย
สอดคล้องจากการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคง ที่เห็นว่า ผู้ก่อเหตุต้องการทำลายความคาดหวัง และความต้องการของคนส่วนใหญ่ ที่อยากเห็นความสงบสุขตามข้อตกลงหยุดเหตุรุนแรงที่รัฐบาลไทย และกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต ซึ่งหารือกันไว้ในการพูดคุยสันติภาพ และวิเคราะห์รายละเอียด โดยเฉพาะเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดลาดตะเวนในอำเภอบังนังสตา จังหวัดยะลา และเหตุระเบิดที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวานนี้ (17 ก.ค.2556) พบว่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการก่อเหตุแบบปัจจุบัน กล่าวคือ เพิ่งนำระเบิดมาวางไว้ก่อนจะจุดฉนวนไม่กี่นาที จึงสะท้อนว่าต้องการก่อกวน
แม้ในช่วง 9 วันแรกของเดือนรอมฎอน จะเกิดเหตุรุนแรง 8 เหตุการณ์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 13 คน แต่เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเดือนถือศีลอดในปีที่ผ่านมา (2555) ซึ่งทั้งเดือน เกิดเหตุรุนแรงถึง 99 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 52 คน และบาดเจ็บ 98 คน นอกจากนี้พบว่า เหตุรุนแรงบางเหตุการณ์เกิดขึ้นจากความขัดแย้งส่วนตัว หรือผลประโยชน์ ทำให้หลายฝ่าย เสนอให้เจ้าหน้าที่เร่งสอบสวน เพื่อสร้างความชัดเจนให้ประชาชน และยังสามารถใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทางการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และกลุ่มอื่นๆ ในอนาคต