เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบที่มาของใบปลิว ซึ่งพบในอ.บังนังสตา และอ.รามัน จ.ยะลา มีข้อความโจมตีเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ด้วยการวิสามัญฆาตกรรมแนวร่วมในอ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขัดกับข้อตกลงที่สัญญาไว้กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งตรงกับท่าทีของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ได้ยื่นหนังสือผ่านทางการมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก การพูดคุยสันติภาพว่า ฝ่ายไทยได้ละเมิดข้อตกลงในการลดความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน โดยอ้างว่า ยังมีประชาชนและผู้นำศาสนา หลายคนถูกยิงทำให้แนวร่วมต้องออกมาก่อเหตุ
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า การวิสามัญ นายมะสุเพียน มามะ ในอ.เจาะไอร้อง เมื่อวานนี้ ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะผู้ต้องหายิงตอบโต้เจ้าหน้าที่ และจากการตรวจสอบประวัติยังพบว่า มีคดีติดตัวไม่ต่ำกว่า 5 คดี เช่น ร่วมก่อเหตุยิงอาสาสมัครรถไฟเสียชีวิต ในอ.เจาะไอร้อง ก่อเหตุยิงนางสาวฉัตรสุดา นิลสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านตาโง๊ะ อ.เจาะไอร้อง เสียชีวิต
ส่วนเหตุรายวันที่เกิดขึ้นพบว่า บางกรณีเป็นความขัดแย้งส่วนตัว ไม่ใช้ฝีมือของเจ้าหน้าที่ เช่นเหตุยิงนายมะยาหะลี อาลี ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ในจ.ยะลา ซึ่งผู้ตายเคยมีคดีความมั่นคงติดตัว ก่อนจะเข้ามอบตัวกับทางการ
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ยอมรับ ได้รับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จากผู้อำนวยความสะดวก ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพของทางการมาเลเซียแล้ว โดยนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้ทำหนังสือประท้วงไทย ละเมิดข้อตกลงการลดเหตุความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งกำลังพิจารณาและหารือว่าจะชี้แจงกลับไปรูปแบบใด
ขณะที่นายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นทำหนังสือประท้วงทางการไทยเป็นเพียงข้ออ้าง ที่จะสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุ และถือเป็นความผิดพลาดของฝ่ายไทย ที่น่าจะสะท้อนว่าการพูดคุยล้มเหลว ท่าทีของบีอาร์เอ็นทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มการดูแลความปลอดภัย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุวิสามัญแนวร่วม เจ้าหน้าที่ต้องปรับแผนดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับที่จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่เพิ่มการรักษาความปลอดภัย อย่างเข้มงวดตามวัดต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุรุนแรง ไม่ให้เกิดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษา ที่จะมาถึงในสับดาห์หน้า