แนวทางป้องกันการฉ้อโกงจำนำข้าว
ธงตราสัญลักษณ์การร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ออกโดย คณะอนุกรรมการนโยบายแห่งชาติ หรือ กขช. สร้างความมั่นใจแก่ชลอ ทิพย์สุวรรณ ชาวนาในต.เมืองเก่า จ.พิจิตร ในการตัดสินใจนำข้าวกว่า 10 ตัน เข้าร่วมการรับจำนำกับทางโรงสีแห่งนี้ นอกเหนือจากลักษณะของสถานประกอบการที่น่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยกับชาวนากว่า 300 คน ในอ.เมืองพิจิตร และโพทะเล ที่ถูกโรงสีแอลโกแมนูเฟอร์เจค จำกัด รวมมือกับท่าข้าวฉ้อโกงข้าวไปกว่า 2,000 ตัน
ปัญหาโรงสีข้าวร่วมกับท่าข้าวฉ้อโกงข้าวของชาวนาจ.พิจิตร และยักยอกข้าวขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อตก.รวมเกือบ 8,000 ตัน ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรต้องกำชับให้ทุกหน่วยงาน รวมทั้งผู้ประกอบการโรงสีและท่าข้าวทั้ง 42 แห่ง ปฏิบัติตามมติของกขช. ที่มีคำสั่งให้ท่าข้าว หรือกลุ่มเกษตร หรือสหกรณ์ยกเลิกการรวมรวมข้าวของชาวนา และนำไปเข้าโครงการรับจำนำอีกทอดหนึ่ง ขณะที่การตรวจสอบท่าข้าวบางแห่ง พบการออกใบชั่งน้ำหนักข้าวให้ชาวนา ทั้งทียังไม่มีการเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรับจำนำจึงเตรียมขยายผลตรวจสอบท่าข้าว สถาบันเกษตรกร และโรงสีที่อาจมีส่วนในการทุจริต
จ.พิจิตร มีโรงสีเข้าร่วมโครงการรับจำนำกับทางรัฐบาล 34 แห่ง แต่มีโรงสีถูกดำเนินคดี 1 แห่ง คือโรงสีแอลโกแมนูเฟอร์เจค จำกัด จึงเหลือโรงสีเพียง 33 แห่ง โดยความคืบหน้าด้านคดีล่าสุด ตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน เพื่อเตรียมออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 คน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนร่วมกระทำผิด ส่วนนายมุนินทร์ จันทรา, นางสาว ณัฐริญา บุญเกื้อ, นายณัฐกิตติ์ อนันต์ชรินทร์ และนายศุภโชค นาทีทอง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของโรงสี แอลโกลด์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด ซึ่งถูกออกหมายจับไปก่อนหน้านี้ ยังอยู่ระหว่างการติดตามจับกุม