คาดเหตุความรุนแรงช่วงศีลอด โยงความขัดแย้งส่วนตัว-การเมืองท้องถิ่น
บาดแผลจากกระสุนปืนบนแขนทั้ง 2 ข้าง ไม่ทำให้นางรอฮูยา ดอเลาะปวดร้าวมากกว่าไปกว่าการสูญเสียสามีอย่างนายหามะ เจะนาแว ไปเพราะคมกระสุนของผู้ก่อเหตุที่เข้ามาจ่อยิงหน้าบ้านในตำบลคลองมานิง อำเภอเมืองปัตตานีเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา แต่โชคดีที่เธอและลูกนอนราบกับพื้นที่จึงไม่อยู่ในวิถีกระสุนที่ทะลุกำแพงเข้ามา และรอดชีวิตอย่างปาฎิหารย์
จากการสวนสวนเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ให้น้ำหนักมูลเหตุรุนแรงไปที่ความขัดแย้งทางการเมือง เพราะผู้ตายเป็นคนขับรถของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองมานิง ซึ่งอยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และก่อนหน้านี้ในพื้นที่เคยเกิดเหตุยิงนายกอบต. และสมาชิกอบต.หลายครั้ง เหมือนเหตุรุนแรง 9 คดีในจังหวัดปัตตานี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนรอมฎอน ซึ่งพบว่าเกือบทุกคดี มีมูลเหตุมาจากความขัดแย้งส่วนตัว การเมืองท้องถิ่น และยาเสพติด เช่นเหตุยิงชาวบ้านในอำเภอสายบุรี เมื่อคืนที่ผ่านมาพบว่า เป็นผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดซึ่งอยู่ระหว่างการประกันตัว เหตุยิงทหารพรานกรมทหารพรานที่ 48 ในตำบลละหาร อำเภอสายบุรี ซึ่งมีความขัดแย้งภายในครอบครัว หรือเหตุยิงนายมะดารี ลาแม็ง กำนันตำบลหนองแรต อำเภอยะหริ่ง เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (22 ก.ค.2556) ผลการตรวจสอบประวัติเบื้องต้นพบว่า เคยถูกยิงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งเพราะขัดแย้งทางการเมืองท้องถิ่น
ความคลุมเครือของหลายเหตุการณ์ทั้งการใช้อาวุธปืน เช่น ปืนพกสั้นหรือ ลูกซอง ยุทธวิธีการก่อเหตุ และเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีจะเลือกก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่มาเป็นเป้าหมายพลเรือน ถูกตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการว่า อาจเป็นความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสร้างความปั่นป่วน เพื่อหยุดยั้งการพูดคุยสันติภาพ จึงเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างกลุ่มบีอาร์เอ็น และรัฐบาลไทยเพื่อชี้แจงเป็นรายกรณี เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคม
นักวิชาการยังเห็นว่า ภาคประชาสังคม ควรร่วมสร้างกลไกขึ้นมารองรับการพูดคุยสันติภาพที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะเมื่อเหตุยิงรายวันกลับมามีสถิติการก่อเหตุเพิ่มขึ้น สวนทางกับข้อตกลงหยุดยิงในเดือนรอมฎอน