นักวิชาการชี้ เหตุรุนแรงใต้ พุ่งเป้าพลเรือน อาจส่งผลคุยสันติภาพหยุดชะงัก
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้มองว่า สถานการณ์เหตุร้ายรายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่พุ่งเป้าไปยังพลเรือนมากขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การพูดคุยสันติภาพต้องหยุดชะงักลง ขณะคณะทำงานและศูนย์ประสานงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดผลสรุปเหตุการณ์ช่วงรอมฏอน พบ 14 วันแรกของเดือนรอมฎอน มี 4 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หัวหน้าคณะทำงานและศูนย์ประสานงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น 14 วัน ในช่วงเดือนรอมฎอน ตั้งแต่วันที่ 10-23 ก.ค.2556 พบว่า มี 4 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนรอมฎอนปี 2555 ช่วง 14 วันแรก ตั้งแต่ 20 ก.ค.-2 ส.ค.2555 มีเหตุการณ์ความมั่นคงจำนวน 16 เหตุการณ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ความมั่นคง ในห้วงเดียวกันลดลงถึง 12 เหตุการณ์ จึงสรุปในขั้นต้นได้ว่า การพูดคุยสันติภาพมีผลให้เหตุรุนแรงในห้วงรอมฎอน ลดลงได้จริง
ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีก 20 เหตุการณ์ ตรวจสอบขั้นต้นแล้ว ยืนยันว่า เป็นเรื่องส่วนตัว การขัดแย้งด้านการเมืองท้องถิ่น และปัญหายาเสพติด ส่วนกรณีล่าสุด เหตุการณ์วันที่ 23 ก.ค. ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกิดเหตุยิง 2 สามีภรรยาเสียชีวิตในพื้นที่จ.นราธิวาสนั้น ก็จะนำข้อมูลมาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงอีกครั้ง
ด้านพล.ต.ต.พัฒนวุธ อังคะนาวิน ผู้รับผิดชอบด้านการข่าว ศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กรณีคนร้ายลอบยิงนายตอเล็บ สะแปอิง ที่ถูกยิงบาดเจ็บในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2556 ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพยานหลักฐานในพื้นที่ จากร่องรอย พยานหลักฐาน พบความจริงว่า เป็นกลุ่มของอาชญากรรมปกติ เกิดจากเรื่องส่วนตัว ซึ่งทางผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ก็ได้สั่งการให้เร่งออกหมายจับผู้ก่อเหตุแล้ว
ส่วนกรณีข้อสังเกตว่า นายตอเล็บเป็นสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ และสมาชิกในกลุ่มนี้ถูกลอบยิงมาแล้วหลายคน จากพยานหลักฐานก็ไม่ได้เชื่อมโยงกันแต่อย่างใด
ด้าน ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า จากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ประเมินได้ว่า การเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี จะเลือกก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ มาเป็นเป้าหมายพลเรือน อาจเป็นความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสร้างความปั่นป่วน เพื่อหยุดยั้งการพูดคุยสันติภาพ จึงเห็นว่า ควรตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างกลุ่มบีอาร์เอ็น และรัฐบาลไทยเพื่อชี้แจงเป็นรายกรณี เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคม