ส.ผู้ประกอบการข้าวถุงฯประกาศให้ 20 ล้านบาทถ้ากินข้าวปนยารมกันมอดตาย
นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เปิดเผยว่า เหตุผลจ่ายเงินชดเชยสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแสดงความจริงใจกับผู้บริโภค นอกจากนี้ สมาคมฯ กำหนดให้บริษัท 128 แห่งตรวจสอบสารรมยา "เมทิล โบรไมด์" ทุกเดือนเป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ จากปกติสุ่มตรวจปีละ 2 ครั้ง โดยจะนำตัวอย่างไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการเอกชนที่ได้รับรองมาตรฐาน 3 แห่ง คาดว่าจะทราบผลกลางเดือนสิงหาคม ในส่วนของผลตรวจสอบข้าวขาวพิมพายี่ห้อโค-โค่ สมาคมฯ ระบุว่าผลการตรวจครั้ง 2 ไม่พบสารรมยา "เมทิล โบรไมด์" เกินมาตรฐาน
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ได้รับแจ้งจากบริษัท สยามเกรนส์ จำกัด ว่า ขณะนี้เรียกคืนข้าวสารยี่ห้อดังกล่าวจากท้องตลาด ได้เพียง 29 ถุง จากกว่า 6,000 ถุง ที่เหลือเชื่อว่าจำหน่ายหมดแล้ว พร้อมกันนี้ อย. เตรียมเสนอปรับแก้ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานปริมาณสารรมยาตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานโคเด็กซ์ คือ เมทิล โบรไมด์ ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โบรไมด์ ไอออน ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และฟอสฟีน ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามภายในสัปดาห์นี้ มีผลบังคับใช้ทันที
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุเป็นห่วงคุณภาพข้าวสารในโครงการรับจำนำของรัฐที่นำมาบรรจุถุงมากกว่า เนื่องจากสต็อกข้าวที่จำนวนมาก และระบายออกได้น้อย ทำให้ต้องรมยาข้าวมากกว่าปกติ