นักวิชาการเห็นพ้อง บางโครงการใน
นักวิชาการหลายสถาบัน เห็นตรงกันว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มีบางโครงการที่ไม่จำเป็นต้องสร้าง เพราะไม่คุ้มค่าต่อการใช้งานและยังขาดการศึกษาที่รอบคอบ
งานเสวนากิจกรรมราชดำเนิน เรื่อง เงินกู้ 2 ล้านล้าน วิกฤติหรือโอกาสประเทศไทย นายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณากู้เงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพียง 1 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการที่คุ้มค่า ในโครงการพัฒนารถไฟรางคู่, โครงการรถไฟฟ้า เพราะเป็นโครงการต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงง่าย และการศึกษาเรียบร้อยผลกระทบเรียบร้อย ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
ขณะที่นายบรรเจิด สิงคะเนติ นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เห็นว่า ประเทศไทยมีการการขนส่งหลายระบบแต่ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ดังนั้นรัฐจึงควรให้ความสำคัญกับระบบขนส่งพื้นฐานที่มีอยู่เดิมและพัฒนาให้มีความเชื่อมโยงมากขึ้น จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าสร้างระบบขนส่งรูปแบบใหม่ที่ลงทุนสูง
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า แม้การกู้ครั้งนี้จะกู้นอกงบประมาณ ซึ่งไม่ส่งผลต่อกรอบวินัยทางการเงินการคลัง แต่ก็จะส่งผลต่อรายจ่ายประจำของประเทศในอนาคตให้สูงขึ้น ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการเพื่อลดภาระงบประมาณและสร้างความคล่องตัวในการปฎิบัติ