ข้อสังเกตระบบส่งถ่ายน้ำมันจากเรือ - กำจัดคราบ
ย้อนไปดูการทำงานส่งน้ำมันดิบจากเรือเข้าโรงกลั่น การส่งน้ำมันเข้าโรงกลั่นทางเรือ ทำโดยตรงไม่ได้ เพราะการใช้เรือต้องมีระดับความลึกประมาณ 30 เมตร จึงใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นจุดรับน้ำมัน เรือลำนี้เป็นเรือน้ำมันจากประเทศโอมาน เริ่มต้นขนถ่ายน้ำมันผ่านทุ่นกลางน้ำ และส่งต่อไปที่ท่อใต้น้ำ ยาวไปจนถึงโรงกลั่นบนฝั่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โรงกลั่นนี้มีกำลังการกลั่น 250,000 - 280,000 บาร์เรลต่อวัน ระยะทางจากทุ่นถึงโรงกลั่นประมาณ 12 ไมล์ทะเล หรือ 20 กิโลเมตร
จุดที่มีปัญหาตามการชี้แจงของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล คือ ท่อระหว่างเรือน้ำมัน และทุ่นรับน้ำมัน จุดนี้เรียกว่า ท่ออ่อน ลอยบนผิวน้ำ เป็นท่อขนส่งถ่ายน้ำมัน ยาว 100 เมตร ขนาดของท่อ 16 นิ้ว ทำมาจากเหล็กท่อน แต่ละท่อนยาว 12 เมตร ต่อกันเป็นข้อๆ จนรวมความยาวได้ 100 เมตร หนาประมาณ 1-2 นิ้ว ที่เรียกว่า ท่ออ่อน เพราะสามารถเคลื่อนไหวได้ตามความแรงกระแสน้ำ มีฉนวนหุ้มเพื่อให้ลอยน้ำได้
พีทีที โกลบอล เคมิคอล อ้างว่าท่อเส้นนี้เกิดรอยรั่วขึ้นทำให้น้ำมันไหลออกมา แต่เมื่อแรงดันในท่อผิดปกติ วาล์วที่อยู่ปลายท่อทั้ง 2 ข้างจะปิดอัตโนมัติ นั่นหมายถึง หากไปตามข้อมูลพีทีที จีซี น้ำมันที่ค้างในท่อ ขนาด 16 นิ้ว ยาว 100 เมตรเท่านั้น ที่มีโอกาสไหลลงสู่ทะเล
พีทีที จีซี อ้างว่าปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลเพียง 50,000 - 70,000 ลิตร แต่หากอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากท่อ และคำนวณจากขนาดท่อ และระยะทาง น้ำมันค้างในท่อจะใช่ 50,000 ลิตร ที่ชี้แจงหรือไม่ ประเด็นนี้ยังเป็นที่สงสัย
อีกประเด็นคือ คราบน้ำมันที่แผ่รัศมีหลายกิโลเมตร รวมถึงปริมาณที่พบภายหลังแล้วตกค้างบนเกาะเสม็ดถูกตั้งข้อสังเกตุว่าน่าจะมีปริมาณมากกว่า 50,000 ลิตร อุบัติเหตุครั้งนี้จึงยังต้องรอตรวจสอบอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ ระหว่างปฏิบัติการกำจัดคราบน้ำมันดิบตั้งแต่วันแรกๆ ที่เกิดเหตุ ยังมีการตั้งข้อสังเกตความเพียงพอ และขนาดของอุปกรณ์ โดยเฉพาะทุ่นลอยน้ำที่นำมาล้อม จำกัดขอบเขตการไหลของน้ำมัน ซึ่งมความยาวเพียง 200 เมตร ดูจะเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันที่แผ่กว้างบนผืนน้ำทะเล ซึ่งกระทรวงพลังงานมองว่าอาจต้องทบทวนเรื่องนี้
อาจมีการตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพการขจัดคราบน้ำมันของพีทีที จีซี แต่มีการซ้อมแผนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อ 2 เดือนก่อน เพิ่มมีการซ้อมแผนขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ พีทีที จีซี เป็นเจ้าภาพจัดใช้เวลาฝึกซ้อมรวม 3 วันโดยจำลองเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่ทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ไม่มีใครคาดคิดอีก 2 เดือนต่อมาเหตุการณ์เกิดจริง โมเดลทำนายผลตอนซ้อมแทบจะดึงมาใช้ได้ทันทีน้ำมันเคลื่อนตัวแบบเดียวกับที่ซ้อม