ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กลุ่มสนับสนุนฝ่ายค้านของกัมพูชา ลงชื่อร่วมร้องเรียนโกงเลือกตั้ง

ต่างประเทศ
31 ก.ค. 56
14:58
97
Logo Thai PBS
กลุ่มสนับสนุนฝ่ายค้านของกัมพูชา ลงชื่อร่วมร้องเรียนโกงเลือกตั้ง

ผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน รวมตัวที่สำนักงานใหญ่พรรคกู้ชาติกัมพูชา เพื่อรวบรวมหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาว่า มีการโกงการเลือกตั้ง

ชาวกัมพูชาหลายร้อยคน ลงชื่อร้องเรียนความไม่ปกติในการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) เป็นผู้รวบรวมรายชื่อดังกล่าว ตามที่นายสม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้ร่วมกันร้องเรียนความผิดปกติ เพื่อแสดงหลักฐานแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชา

สำหรับข้อร้องเรียนมีตั้งแต่เรื่อง เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้ง อนุญาตให้ผู้ที่ทำบัตรประชาชนหาย สามารถใช้บัตรของผู้อื่นมาลงคะแนนแทนได้ จนถึงเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตกหล่น

ล่าสุด กกต.กัมพูชา ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ผลอย่างไม่เป็นทางการที่มีการกล่าวอ้าง คือพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ภายใต้การนำของสมเด็จฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรี ได้ ส.ส. 68 คน จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 123 คน

ขณะที่พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) พรรคฝ่ายค้านของนายสม รังสี ได้ 55 ที่นั่ง แต่พรรค CNRP ประกาศไม่รับผลเลือกตั้ง โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ และเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องการเลือกตั้ง รวมทั้งอาจขอให้มีการนับคะแนนใหม่

การประกาศไม่รับผลการเลือกตั้ง เสี่ยงจะทำให้การเมืองกัมพูชาเข้าสู่ภาวะชะงักงัน เพราะตามรัฐธรรมนูญกัมพูชากำหนดให้ ส.ส.เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 120 คน จึงจะเริ่มการประชุมสภาเพื่อจัดตั้งคณะรัฐบาลได้ หากฝ่ายค้านคว่ำบาตร ก็จะทำให้รัฐบาลใหม่ของสมเด็จ ฮุนเซ็น มีสภาพเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการณ์

ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่า สมเด็จ ฮุนเซ็น จะเจรจารอมชอมกับฝ่ายค้านได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เผชิญกับภาวะชะงักงันทางการเมือง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมือปี 2546 ซึ่งเกิดสูญญากาศทางการเมืองถึง 11 เดือน กระทั่งพรรคร่วมฝ่ายค้านบางพรรคหันไปร่วมมือกับ CPP จัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางการเสียชีวิตปริศนาของแกนนำฝ่ายค้านหลายคน

นักวิเคราะห์ เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นอุปสรรคสำคัญในชีวิตการเมืองสมเด็จฮุน เซ็น อีกครั้ง เนื่องจากครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญที่สุด มีเพียงพรรคเดียว แต่แข็งแกร่งจนยากที่ ส.ส.จะแปรพักตร์ และยังได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนล้นหลาม

นอกจากนี้ สมเด็จฮุนเซ็น ยังต้องพยายามกอบกู้ความเสียหายจากผลเลือกตั้งที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 15 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ทั้งตัวสมเด็จฮุน เซ็น และพรรค CPP จะต้องยกเครื่องใหม่ทั้งหมด และต้องฟังเสียงประชาชนที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง

นักวิเคราะห์บางคน ยังมองว่า อาจจะเป็นการยาก ที่สมเด็จ ฮุนเซ็น จะเปลี่ยนแปลงท่าทีของตัวเอง ขณะเดียวกันพรรค CPP ก็ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเปิดประชุมสภาได้อย่างไม่มีปัญหา แม้ว่าการทำงาน และผลักดันร่างกฏหมายบางฉบับ อาจยากลำบากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง