ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พท.-ปชป."ชิงไหวชิงพริบการเมืองกรณีการแก้ไขกม.นิรโทษกรรม

การเมือง
7 ส.ค. 56
14:23
82
Logo Thai PBS
"พท.-ปชป."ชิงไหวชิงพริบการเมืองกรณีการแก้ไขกม.นิรโทษกรรม

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวันนี้ (7 ส.ค.) ถือว่าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน คือพรรคประชาธิปัตย์ ต่างฝ่ายต่างก็ชิงไหวชิงพริบกันตลอด 4 ชั่วโมงให้ประชุม โดยฝ่ายค้านพยายามดึงเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายให้ยาวนานที่สุด ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาล มีท่าทีของการเดินหน้าอย่างรวดเร็ว

หลังปิดฉากเกมดึงมวลชนร่วมแสดงพลัง ด้วยเป้าหมายที่จะแจ้งเจตจำนงค์ให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรรับทราบว่าจะคัดค้านและต่อต้าน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมลง เพราะมวลชนที่เข้าร่วมไม่มากพอ ขณะเดียวกันกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน ก็ไม่สามารถรวบรวมมวลชนมาร่วมสบทบได้ ตลอดจนผลการเจรจากับฝ่ายตำรวจ ก็ไม่เป็นผล ที่จะนำพามวลชนเข้าให้กำลังใจหน้ารัฐสภา ในพื้นที่ควบคุมตามพ.ร.บ.มั่นคง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็พลิกเกมนอกสภา สวมบทบาทใหม่ในฐานะ ส.ส. ทันที

ตลอดเวลา  4 - 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา ผลการประชุมไม่สามารถสรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการและ 40 ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอได้ เพราะอุปสรรคปัญหาเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา ทั้งที่เกิดจากส.ส.พรรคเพื่อไทยเอง และเกิดจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการอภิปรายทักท้วง ประท้วง ถกเถียง หรือตอบโต้ รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งเกิดขึ้นให้ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ไม่เพียงแค่นั้น กรณีของข้อบังคับที่เกิดจากการเสนอญัตติซ้อนญัตติ หรือ หมายถึงการเสนอเรื่องหารือต่อประธานในที่ประชุมก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะญัตติที่เสนอให้พิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ อย่างรายงานสรุปผลการคัดเลือกผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือญัตติที่เสนอขึ้นมาใหม่ คือ ญัตติการพิจารณาความรับผิดชอบทางแพ่งกรณีน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลจังหวัดระยอง ตลอดจนเรื่องที่ถูกนำมาหารือประธานในที่ประชุมเพื่อวินิจฉัย ซึ่งกินเวลาการประชุมยาวนานที่สุด คือ เรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นร่างกฎหมายการเมือง เป็นเหตุให้ต้องอภิปรายชี้แจงข้อสงสัยและต้องอภิปรายตอบข้อซักถาม รวมถึงการวินิจฉัยของประธานในที่ประชุมถึง 2 ครั้ง

ประมวลผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอดทั้งวันแล้ว ถือเป็นช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต่างชิงไหวชิงพริบเพื่อความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองต่อการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล หรือ พรรคเพื่อไทย พยายามเดินหน้าการพิจารณาให้เร็วที่สุด แต่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ กลับดึงยื้อเวลาในการอภิปรายในยาวนานที่สุด


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง