นักวิชาการเสนอเปิดพื้นที่ให้กลุ่มอื่นร่วม
ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ของภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ขณะที่กลุ่มที่คิดต่างกับรัฐก็มีหลายกลุ่ม ทำให้นักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เสนอแนะให้รัฐบาล เปิดพื้นที่ให้รับฟังให้หลากหลายในการพูดคุยสันติภาพ ส่วนกระแสข่าว นายอัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่ม บีอาร์เอ็น ถอนตัวจากการพูดคุยสันติภาพนั้น ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ วิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะฝ่ายกองกำลังซึ่งเป็นผู้มีบทบาทที่แท้จริงในกลุ่มบีอาร์เอ็นต้องการกดดันให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอโดยเร็ว
กรณีมีกระแสข่าวนายอัสซัน ตอยิบ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นถอนตัวจากการพูดคุยสันติภาพกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงการที่กลุ่มบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นสภาชูรอ หรือที่ปรึกษากลุ่ม บีอาร์เอ็น ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่มีตัวแทน ร่วมพูดคุยสันติภาพอีกต่อไปนั้น ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้วิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะฝ่ายกองกำลังซึ่งเป็นผู้มีบทบาทที่แท้จริงในกลุ่ม บีอาร์เอ็น ต้องการกดดันให้รัฐไทยยอมรับ 5 ข้อเสนอแรก และ 7 เงื่อนไขหลัง โดยเร็ว
ข้อเสนอที่มีความเปราะบางในบางข้อของบีอาร์เอ็น ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ประชาชนในพื้นที่มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพูดคุยสันติภาพ ดังนั้นคู่เจรจาควรปรับเงื่อนไขเพื่อให้การพูดคุยเดินหน้าต่อไปได้
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนรอมฎอนเป็นสิ่งที่ นายสมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎยะลามองว่า ยังมีกลุ่มที่คิดต่างจากรัฐอยู่หลายกลุ่มดังนั้น การพูดคุยสันติภาพจึงต้องเปิดพื้นที่ให้หลากหลายมากกว่ายึดติดอยู่กับกลุ่มบีอาร์เอ็น
ด้าน ซากี พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ระบุว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนานนับ 10 ปีคงยากที่การพูดคุยจะสามารถบรรลุผลได้ในเร็ววัน อีกทั้งกลุ่มที่ก่อเหตุก็มีความเป็นอิสระควบคุมได้ยาก จึงต้องให้เวลาคณะพูดคุยทุกฝ่ายสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน
ทั้งนักวิชาการและภาคประชาสังคมเห็นพ้องกันว่าการพูดคุยสันติภาพ ควรเป็นในทางลับ ให้ได้ผลความคืบหน้าในระดับหนึ่งแล้ว จึงค่อยนำเสนอสู่สังคม และที่สำคัญการพูดคุยเป็นหนทางที่จะนำไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้กระบวนการยังมีความเปราะบางเป็นอย่างมากทุกฝ่ายจึงควรช่วยกันประคับประคอง