สานสัมพันธ์วัฒนธรรมในงาน
ท่วงท่าร่ายรำกับจังหวะ คล้ายรำกระทบไม้ที่คุ้นเคย คือเอกลักษณ์การแสดงแบบชาวมาราเนา ชนชายฝั่งในฟิลิปปินส์ สื่อถึงความยินดีเมื่อเจ้าชายติดตามพบเจ้าหญิงที่หลงอยู่ในป่าไผ่ ที่คณะสินิง กุมินตัง นัง บาตานกาซ ร่วมถ่ายทอดในงานอาเซียนรวมใจ ในวาระสำคัญ 12 สิงหาคม
การแสดงจากศิลปิน 9 ประเทศ หมุนเวียนขึ้นเวทีเฉลิมฉลองวาระสำคัญด้วยนาฏศิลป์และดนตรีพื้นบ้าน ทั้งโยกีหรือหุ่นชัก ในบทบาทท่าทางมหาดเล็กประจำวังสมัยโบราณของพม่า และเทอมาร็อก จากศิลปินบรูไนดารุสซาลาม ที่ประยุกต์การร่ายรำพัดประกอบพิธีกรรมชนเผ่าดูซุน ครั้งแรกของการร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมพร้อมกับเพื่อนบ้าน ทำให้เซยาดัง บุดจายา ตื่นเต้นไม่น้อย และดีใจที่สัมพันธ์ที่ดี จะเริ่มต้นจากเวทีวัฒนธรรม
เซยาดัง บุดจายา ศิลปินชาวบรูไน เผยว่า ท่วงท่าการแสดงสง่างามเป็นความภูมิใจของพวกเรา และดีใจที่ได้เป็นตัวแทนเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ให้เป็นที่รู้จัก ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากมาเลเซีย แต่ผสมผสานจนเป็นการแสดงเฉพาะตัว
ขณะที่วิน จอ ซู ศิลปินชาวพม่า เผยว่า อบอุ่นสุขใจที่ได้ร่วมงานกับคนไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน ก่อนรวมเป็นประชาคมเดียวกัน โดยหวังสานสัมพันธ์ให้ดีขึ้นและได้แลกเปลี่ยนทำความรู้จักวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน
เวทีอาเซียนรวมใจ ถือเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ศิลปินในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สานสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างกัน และเฉลิมฉลองในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 81 พรรษา ที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ทูลเกล้าถวายพระราชสมัญญา อัคราภิรักษศิลปิน มีความหมายว่าศิลปินยิ่งใหญ่ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ ในงานยังจัดนิทรรศการผ้า มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม นำช่างฝีมือ 4 ภาค จากศูนย์ศิลปาชีพร่วมแสดงองค์ความรู้ด้านผ้าไทย เตรียมพร้อมเพื่อคัดเลือกเป็นเมืองศูนย์กลางมรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศอาเซียน