ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ผ้าซิ่นต่างสี” หรือ “จัดการไม่ดี” แม่ญิงจึงไม่ได้ร่วมฟ้อน 729 ปี เมืองเจียงใหม่

ภูมิภาค
20 เม.ย. 68
15:41
474
Logo Thai PBS
“ผ้าซิ่นต่างสี” หรือ “จัดการไม่ดี” แม่ญิงจึงไม่ได้ร่วมฟ้อน 729 ปี เมืองเจียงใหม่
โซเชียลร้อน ดรามางานฟ้อนเฉลิมฉลอง 729 ปี เมืองเชียงใหม่ บันทึกสถิติโลก คนนับหมื่นอยากเข้าร่วม แต่เพราะระบบจัดการไม่พร้อม หรือเพราะสีผ้าซิ่น คนที่มาร่วมไม่เหมือนกัน ทำให้หลายคนหลุดออกจากแถวรำ

วันนี้ (20 เม.ย.2568) เกิดดรามาในโซเชียลมีเดีย มาตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา (19 เม.ย.2568) หลังจบงานฟ้อนเฉลิมฉลอง 729 ปี สถาปนาเมืองเชียงใหม่ ที่มีการบันทึกสถิติโลกด้วย แต่กลับเป็นว่างานนี้ไม่แฮปปี้สำหรับคนเชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ สอบถามคนที่นำชาวบ้านมาร่วมฟ้อนครั้งนี้ว่า “ดรามาเริ่มจากไหน?”

แหล่งข่าวคนนี้บอกว่า ปกติจะร่วมงานกับเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ แต่งานนี้ไม่ได้สนใจตั้งแต่แรก เริ่มแรกงานนี้คือ มีการเปิดจองผ้าซิ่น ที่จะใช้ใส่ฟ้อน ในราคาที่กำหนดมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ คือผืนละ 729 บาท

ส่วนตัวรู้สึกว่าผ้าซิ่นไม่สวยและแปลก ไม่ได้มีความเป็นอัตลักษณ์ของเชียงใหม่

จนกระทั่งผู้จัดงานบอกว่า คนไม่พอและประสานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอความร่วมมือ ขอคนเข้ามาร่วมฟ้อน ซึ่งตอนนั้นผ้าซิ่นที่เปิดจองไม่มีแล้ว คนจัดงานจึงบอกว่า ไม่เป็นไร ใส่สีอะไรก็ได้ แต่ให้มาเป็นทีม

แหล่งข่าวระบุว่า ตนมาในนามของสมาคมสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองเชียงใหม่ จึงนัดกันใส่สีชมพูมา ผู้จัดงานก็กำหนดให้ไปอยู่บริเวณสวนบวกหาด หรือโซน B 17 ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อไปถึงโซนก็มีปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องของการลงทะเบียน สติกเกอร์ประจำไม่มี และอาหารก็ไม่มีแจกเหมือนกับส่วนอื่น รวมถึงเกิดปัญหาเรื่องเครื่องเสียง ที่ไม่ได้ยินเสียงเพลงประกอบ

จุดบริเวณสวนบวกหาด ไม่มีเครื่องเสียง ประกอบกับเป็นวันถนนคนเดิน จะมีการเคลียร์โซนนั้น จึงย้ายคนจากสวนหาดไปยังโซนอื่น โดยให้เหตุผลว่า ที่บริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย คนไม่พอ เขาก็ขอคนเข้าไปเสริม แต่เมื่อย้ายมาผู้ประสานงานฝั่งโรงเรียนยุพราชฯ ก็บอกว่า คนพอแล้ว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จากนั้นจึงไปประสานงานที่กองอำนวยการ ได้รับคำตอบว่า ให้ไปประจำอยู่ที่บริเวณโซน A 10 จึงพาเด็ก ๆ เดินไปบริเวณนั้น เพราะใกล้ที่จะถึงเวลาฟ้อน แต่พอไปถึงจุดนั้น กลายเป็นจุด A 15

จึงพยายามหาจุด A 10 แต่จังหวะนั้นนักเรียนช่างฟ้อน จากบริเวณอาชีวศึกษา ออกมาข้างนอก และกำลังตั้งขบวนเต็มถนน ถ้าเดินสวนไปก็จะดูวุ่นวาย จึงขึ้นไปอยู่บริเวณจุดหน้า A15 จึงพยามหาที่อยู่ว่า จะไปอยู่ตรงไหน เพราะว่าจุดที่คาดว่าจะไปอยู่บริเวณอาคารการบินไทย (เดิม) ก็มีช่างฟ้อนชุดสีน้ำเงินกระจายอยู่เต็มท้องถนนแล้ว จึงขยับมาอยู่บริเวณด้านหน้าโรงเรียนยุพราช

ประเด็นคือมีคนที่เป็นเจ้าหน้าที่มาบอกว่า ไม่ให้มายืนตรงนั้น มันโดดเด่นเกินไป คนอื่นใส่ผ้าถุงสีน้ำเงิน แต่ของเราเป็นสีชมพูมันดูโดดเด่น เวลากล้องแพนมา จะเห็นและเป็นภาพที่ไม่ดี เขาใช้คำว่า พวกเราจะเป็นจุดด่างพร้อย

แหล่งข่าวเล่าต่ออีกว่า จึงขอว่าถนนกว้างและมีช่างฟ้อนแค่สามแถว จึงขอเพิ่มแถวขึ้นอีกหนึ่งแถวซ้อนเข้าไป เป็นแถวที่สี่หน้าโรงเรียนยุพราชได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่จัดงานที่สวมเสื้อสีเหลือง บอกว่าไม่ได้ เพราะสีผ้าถุงไม่เหมือนคนอื่น เดี๋ยวจะทำให้ไม่ผ่านการการบันทึกสถิติโลก ถ้าเอาตรงนี้มาเป็นข้อจำกัด ก็จะทำให้เป็นสาเหตุไม่ผ่านการบันทึกสถิติโลก

เมื่อคนจัดงานพูดคำนี้ออกมา แม่ๆ ช่างฟ้อนและเด็ก ๆ ที่มาไกลเช่น จากแม่วิน -ขุนวิน ทุกคนเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นไม่ขอฟ้อนแล้ว จะขอกลับบ้านในระหว่างนั้นก็กลายเป็นอารมณ์ขึ้นมา เราไม่ได้ขอมาอยู่จุดนี้ คนจัดงานขอให้เราย้ายมา กลายเป็นว่า เอาช่างฟ้อนมาทิ้ง ทีมที่มาเป็นเด็ก ๆ ก็เสียใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกี่ยวกับผ้าซิ่นหรือไม่ แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวว่า ไม่เกี่ยว แต่เป็นปัญหาเรื่องการจัดการ คือทีมฟ้อนไม่ได้อยากไปอยู่บริเวณจุดนั้นอยู่แล้ว เพราะรู้ว่าผ้าซิ่นเป็นสีน้ำเงิน แต่ปัญหาคือการจัดการ

อีกกว่า 100 คน ที่ไม่ได้ฟ้อน และกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้ฟ้อนก็มีอีกจำนวนมาก ในโซนบริเวณสวนบวกหาดเหมือนกัน ก็เป็นผ้าถุงสารพัดสีเหมือนกัน

เมื่อถามถึงกรณีการขายผ้าถุงราคา 450 บาท แต่ทางสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ จ่ายให้ 65 บาท ใช่างฟ้อนหรือหมู่บ้านที่จะเข้าร่วม ก็จะจ่ายค่าผ้าเพียงผืนละ 380 บาท

แหล่งข่าวบอกว่า “จริง ๆ แล้ว เรื่องผ้าไม่ได้แพงเลย แต่ประเด็นที่คนพูดถึงกันคือ ผ้าที่เอามาขาย ไม่ใช่ผ้าพื้นเมืองเชียงใหม่ เขาจึงไม่เอา”

แหล่งข่าวระบุว่า ถ้าเรื่องผ้ามีปัญหา ช่วงที่ซ้อมใหญ่ วันที่ 5 เม.ย.2568 ก็น่าจะมีการพูดถึง แต่นี่ไม่มีการพูดถึง เพราะว่า คนร่วมฟ้อนไม่พอ ผู้จัดงานจึงขอความร่วมมือไปทางอำเภอรอบนอก ที่ไม่มีผ้าซิ่นให้เข้ามาร่วมฟ้อนด้วย เพื่อเอาจำนวนคน ถ้ามีปัญหาเรื่องผ้า น่าจะต้องแจ้งวันนั้นแล้ว ไม่น่าจะเพิ่งมาพูดกัน

นายกสมาคมสตรีฯ ขอบคุณ-ขออภัยข้อบกพร่อง

ด้าน น.ส.วรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์ นายกสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก หลังมีประเด็นดรามา ระบุว่า ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน และประชาชนองค์กรเครือข่ายวัฒนธรรม สถาบันการศึกษาทุกแห่ง

สมาคมโรงแรม ภัตตาคาร ห้องอาหาร ครัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้อนุเคราะห์จัดอาหารให้กับช่างฟ้อน จำนวนมากกว่า 10,000 คน ร่วมในโครงการสมโภชเชียงใหม่ 729 ปี ให้สำเร็จลุล่วง สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดเชียงใหม่ ให้คนทั่วโลกได้รู้จักเมืองเชียงใหม่และวัฒนธรรมอันดี งาม ศิลปะปราชญ์ภูมิปัญญา กลองตึ่งโนง คู่กับการฟ้อนเล็บใน ภาพลักษณ์ ภาคการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัด

จิตอาสา ช่างฟ้อนทุกทีมที่ร่วมใจมุ่งมั่น ในวัตถุประสงค์เดียวกันกับผู้จัดงาน ทีมจิตอาสาภาครัฐและประชาชน ทีมปฐมพยาบาลสาธารณสุขเชียงใหม่ในทุกจุด ทำงานขับเคลื่อนร่วมกัน จนทำให้งานสำเร็จลุล่วงสร้างประวัติศาสตร์ให้เมืองเชียงใหม่

สิ่งใดเป็นข้อบกพร่องและการดูแลไม่ทั่วถึง ในทุกจุดของการจัดกิจกรรมทางสมาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้จัดงาน ต้องกราบขออภัย และจะนำทุกคำแนะนำมาปรับปรุงในการทำงานขับเคลื่อนของจังหวัดต่อไป

ผ่านบันทึก Guinness World Records 7,218 คน

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า งานฟ้อนเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 729 ปีแห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่มีผู้เข้าร่วม 7,218 คน และถูกบันทึกสถิติโลก Guinness World Records จัดขึ้นเมื่อเย็นวัน 19 เม.ย.2568) ที่ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

โดยมี น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยานร่วมแสดงการฟ้อนเล็บอัตลักษณ์ ตามแบบคุ้มพระราชชายาเจ้าดารารัศมี โดยใช้พื้นที่รอบตัวเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชื่อมต่อไปยังถนนต่าง ๆ รอบคูเมืองเชียงใหม่

ผู้ร่วมแสดงจะต้องแสดงตามกฎและหลักเกณฑ์ที่ทาง Guinness World Records กำหนด คือ จะต้องทำการแสดงภายในเวลาที่กำหนด และต้องทำการแสดงตามท่าฟ้อนที่ได้อนุมัติไว้เท่านั้น ทั้งนี้สถิติล่าสุดที่ทาง Guinness World Records ได้ทำการบันทึกไว้คือเป็นการแสดงเต้นพร้อมกันจำนวน 5,255 คน

ภายหลังเสร็จสิ้นการแสดงฟ้อนเล็บ อัตลักษณ์ตามแบบคุ้มพระราชชายาเจ้าดารารัศมี คณะกรรมการ Guinness World Records ได้รวบรวมผลคะแนนการตัดสิน เป็นระยะเวลากว่า 30 นาที

ก่อนออกมาประกาศผลว่า “จังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกบันทึกสถิติโลก Guinness World Records The Leargest Thai Dance จำนวน 7,218 คน” ทุบสถิติเดิมที่เคยบันทึก 5,255 คน พร้อมมอบใบรับรองให้กับจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการจารึกสถิติอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการประกาศศักดิ์ศรีวัฒนธรรมล้านนา ให้โลกได้ประจักษ์ผ่านพลังความร่วมมือของคนทั้งเมือง พร้อมส่งต่อความงดงามนี้สู่สายตานานาชาติ

อ่านข่าว :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง