ความโปร่งใสของ
ก๊าซแอลพีจีมีที่มาจากหลายแหล่ง ทั้งจากการแยกก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย, การกลั่นน้ำมัน รวมถึงการนำเข้าโดยตรงจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลายกลุ่ม แต่ละส่วนจึงกำหนดราคาไม่เท่ากัน และเกิดปัญหาตามมามาก
ปัจจุบันก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ถูกกำหนดเป็น 4 ราคา จำแนกตามกลุ่มผู้ใช้ ได้แก่ ภาคครัวเรือน, ภาคขนส่ง, ภาคอุตสาหกรรม และภาคปิโตรเคมี แต่ความเหลื่อมล้ำของราคา ทำให้เกิดปัญหาการลักลอบนำก๊าซจากภาคครัวเรือนไปใช้ให้รถยนต์แอลพีจีแทน เพื่อหาประโยชน์จากราคาที่ต่างกันกิโลกรัมละ 3 บาท
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้กระทรวงพลังงานปรับโครงสร้างราคาแอลพีจี โดยขึ้นราคาภาคครัวเรือนให้เท่ากับภาคขนส่ง จากนั้นจะปรับขึ้นพร้อมกันเพื่อให้สะท้อนราคาตลาดโลก
แต่สิ่งที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด คือราคาแอลพีจีของภาคปิโตรเคมีที่ใช้สูตรราคาที่อ้างอิงเม็ดพลาสติกในตลาดโลก ซึ่งปรับขึ้นลงตลอดทั้งปี นอกจากนี้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 1 บาท
นโยบายรัฐในอดีตต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้นำก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีจำกัด เข้าโรงแยกก๊าซ มาป้อนเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 700,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้แอลพีจี เป็นวัตถุดิบต้นน้ำ ต่างจากภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ที่นำไปเผาให้ความร้อน การคำนวณราคาจึงออกมาแตกต่างกัน แต่จุดสำคัญของปัญหาคือการเลี่ยงที่จะอธิบาย จนไม่สามารถสร้างความกระจ่างได้
นอกจากนี้ข้อมูลราคาแอลพีจีภาคปิโตรเคมี ที่ถูกเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานด้านพลังงานที่ผ่านมา สร้างความสับสน เอกสารชี้แจงจากบริษัท ปตท. ที่ยื่นต่อกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ระบุถึงราคาเฉลี่ยแอลพีจี ณ โรงแยกก๊าซย้อนหลัง 1 ปี ที่ ประมาณ 16-17 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เอกสารชี้แจง จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ใช้ตัวเลขราคา ณ โรงกลั่นที่ 22 บาท โดยไม่ระบุช่วงเวลา ประเด็นนี้จึงถูกโจมตีและชี้ถึงการไม่มีเอกภาพของข้อมูลจากภาครัฐ