ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ชาวสวนยางพารา"ยกระดับการชุมนุม ร้อง"รัฐ"แก้ปัญหาราคายาง

25 ส.ค. 56
14:26
120
Logo Thai PBS
"ชาวสวนยางพารา"ยกระดับการชุมนุม ร้อง"รัฐ"แก้ปัญหาราคายาง

กลุ่มชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่สาม บริเวณสี่แยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ยกระดับการชุมนุม ด้วยการปิดถนนเส้นทางสายรอง เพื่อกดดันรัฐบาล หลังปฎิเสธที่จะประกันราคายางพารา ขณะที่ตัวแทนส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ปฎิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลัง การชุมนุม พร้อมเสนอรัฐบาลตั้งงบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ

แม้สภาพอากาศที่ร้อนจัดจะทำให้น้ำยางพาราที่กรีดได้ลดเหลือครึ่งหนึ่งบวกกับราคาขายน้ำยาง ซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท จะทำให้ป้าเทียน ธรรมเพชรได้เงินแค่ 340 บาทจากกรีดยางในสวน 4 ไร่ แต่ก็ยังดีกว่าให้คนในครอบครัว 5 คนต้องเดือดร้อน เช่นเดียวกับวิบากกรรมของชาวสวนยางเกือบทุกคนในอ.ควนขนุน จ.พัทลุง ที่กำลังเผชิญปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างหนัก

ความเดือดร้อนทำให้หลายคนเห็นด้วยกับการชุมนุมเรียกร้องการประกันราคายางพารา ของกลุ่มเกษตรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ชุมนุมประท้วงปิดถนนบริเวณสี่แยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราชต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ซึ่งพวกเขาบอกว่าเป็นการชุมนุมโดยธรรมชาติ ไม่มีการจัดตั้ง และได้ยกระดับปิดถนนสายรอง

 แม้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ จะเดินทางมาพบปะกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ทั้งหมดยืนยันว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม และไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มหน้ากากขาว แต่ในฐานะนักการเมืองในพื้นที่ก็ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านกฎหมายกับผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม พร้อมเรียกร้องให้รัฐตั้งงบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยราคายาง อย่างต่ำกิโลกรัมละ 84 บาท ซึ่งคิดจากราคาต้นทุนการผลิต ที่อยู่ที่ 64 บาทต่อกิโลกรัมบวกกับส่วนต่างกำไร ร้อยละ 30 หรือเลือกใช้วิธีการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรเพื่อขอให้หยุดกรีด 2 ถึง 3 เดือน แล้วเร่งระบายยางในสต๊อกกว่า 200,000 ตัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณยางในตลาด ทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นตามกลไก

การชุมนุมตลอดทั้งวันนี้ (25 ส.ค.) มีข้อเรียกร้องทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเนื้อหาหลักคือต้องการให้รัฐช่วยเหลือเรื่องราคาอย่างเร่งด่วน ขอให้เจ้าหน้าที่งดใช้กำลัง หรือดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ให้เจ้าหน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยึดไประหว่างการสลายการชุมนุม และหากข้อเรียกร้องทั้งหมดไม่ได้รับความสนใจก็จะชุมนุมต่อไปจนถึงวันที่ 3 กันยายน ซึ่งจะมีการรวมตัวครั้งใหญ่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางทั่วประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง