วิปรัฐบาลนัดประชุมรัฐสภา แก้ที่มา ส.ว. 26-27 ส.ค.นี้
ขณะที่รัฐบาลกำลังมีความพยายามในการขับเคลื่อนงานด้านนิติบัญญัติอย่างต่อเนื่องในหลายกรณี โดยมีกฎหมายที่ยังค้างการพิจารณาหลายฉบับ ซึ่งในส่วนของประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ที่มาของ ส.ว.ที่ยังค้างการพิจารณาในมาตรา 3 ไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน จะมีการนัดประชุมในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.)
นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือ วิปรัฐบาล เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 27-28 ส.ค.นี้ จะยังนัดสมาชิกรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังค้างไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน จากนั้นในวันที่ 29 ส.ค.จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดและกระทู้ถามทั่วไป โดยไม่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีวาระที่จะนำเข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากขณะนี้จะต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่มาของ ส.ว. ให้เสร็จสิ้นก่อน จึงค่อยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ส่วนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขณะนี้ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ
สำหรับกำหนดการดังกล่าว นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า กรณีการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.) เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. น่าจะเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากกรอบเวลา 2 วันที่กำหนดไว้อาจไม่เพียงพอในการอภิปราย เพราะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอแปรญัตติจำนวนมาก และยังไม่ได้อภิปราย
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า รัฐบาลยังมีเวลาอีกมาก และสามารถพิจารณาต่อในวันพุธของสัปดาห์ต่อ ๆ ไปได้ ดังนั้นควรต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป เพื่อให้ในวันที่ 29 ส.ค. ได้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามปกติ และเร่งพิจารณาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาของเกษตรกร เช่น ชาวสวนยางที่ออกมาชุมนุมเนื่องจากเดือดร้อนจากราคาตกต่ำ ก่อนที่จะมีการชุมนุมทั่วประเทศในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมระบุไว้
จากข้อมูลที่เกี่ยวกับงานด้านนิติบัญญัติของรัฐบาลขณะนี้ พบว่า กรณีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. พิจารณาได้เพียง 3 มาตรา จาก 13 มาตรา และลงมติไปได้เพียง 2 มาตรา ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ ยังไม่มีการพิจารณาในวาระ 2 และ 3
ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และ มาตรา 68 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยุบพรรค และความผิดซึ่งนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง เชื่อว่าต้องรอให้ผลการพิจารณา กฎหมายทั้ง 2 ฉบับข้างต้นผ่านพ้นไปก่อน เพราะการแก้มาตรา 237 และมาตรา 68 อาจส่งผลต่อความเคลื่อนไหวคัดค้านที่รุนแรง ประกอบกับมีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอระงับการแก้รัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าว ซึ่งอาจต้องรอให้เงื่อนไขต่างๆ คลี่คลายจึงสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯได้
ขณะที่กฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับที่เสนอโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย หลังผ่านการพิจารณาในวาระแรก ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งหลังการพิจารณา ยังต้องผ่านอีกหลายกระบวนการ