ชาวสวนยาง จ.เชียงราย วอนรัฐวางมาตรการช่วยเหลือระยะยาว
นายรุ่งสมบูรณ์ ทองใบ ชาวสวนยางพารา ต.หนองป่าก่อ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย สะท้อนเรื่องค่าใช้จ่ายการผลิตยางพาราของชาวสวนใน จ.เชียงราย ที่มีต้นทุนการผลิตสูงถึงไร่ละเกือบ 20,000 บาทต่อปี แต่ขณะนี้ขายน้ำยางเฉลี่ยปีละไม่เกิน 25,000 บาท จึงเท่ากับว่าแต่ละปีชาวสวนยางมีรายได้เพียงไร่ละ 4,000 -5,000 บาทเท่านั้น ซึ่งข้อมูลของเครือข่ายสมาคมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ระบุว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 64 บาท หากราคายางต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท จะทำให้ชาวสวนขาดทุน
นายโสวัตร กาญจนสุนทร ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแห่งประเทศไทย จ.เชียงราย ให้ความเห็นว่า ราคายางพาราในทุกภูมิภาคราคาเท่ากันหมด อยู่ที่คุณภาพของน้ำยางเป็นหลัก หากชาวสวนสามารถผลิตยางที่ดีก็จะมีพ่อค้าเข้าไปสั่งจองและให้ราคาสูงถึงในสวน
ขณะที่นายอนันต์ แก้วคุ้มภัย ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.เชียงราย แนะนำให้ชาวสวนแก้ปัญหาด้วยการทำอาชีพเสริมในสวนยางควบคู่กันไป เช่นการนำพืชชนิดอื่นมาผลูกผสม จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ สกย. ได้สร้างโรงงานแปรรูปยางในพื้นที่อำเภอเชียงของ ซึ่งจะสามารถแปรรูปยางที่ส่วนใหญ่เป็นยางก้นถ้วยเป็นยางชนิดอื่นๆเพื่อให้ราคาสูงขึ้น
จ.เชียงรายมีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 600,000 ไร่ มีชาวสวนกว่า 5,000 คน โดยเป็นสวนที่กรีดน้ำยางได้แล้วกว่า 230,000 ไร่ แต่ละเดือนมีน้ำยางออกสู่ตลาดประมาณ 250 ตัน และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าปริมาณยางจะเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ชาวสวนเป็นกังวนว่า หากรัฐไม่มีมาตรการเข้ามาดูแลอย่างจริงจังในระยะยาว ชาวสวนจะได้รับความเดือดร้อนและออกไปชุมนุมประท้วงอย่างแน่นอน