เปิดเล่มว่าที่ กวีซีไรต์ 2556 :
พัดสีทอง ที่ไกด์สาวชาวจีนมอบให้ เมื่อเธอแวะมาเมืองไทยหลังพาโชคชัยเที่ยวไปในจีนเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า คือของฝากที่ไม่เพียงให้ผู้รับย้อนนึกถึง 7 วันในแดนมังกร แต่ยังแทนมิตรภาพที่ไม่ได้จบลงเมื่อสิ้นสุดการเดินทาง จนถ่ายทอดเป็นบทกวีในชื่อ "ของฝากจากแดนไกล" ที่มาของกวีนิพนธ์เล่มล่าสุดโดย โชคชัย บัณฑิต' นามปากกา ของกวีซีไรต์ โชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์
ทั้งไทย ลาว พม่า จีน และกัมพูชา ที่ท่องไปในช่วง 10 ปีทีผ่านมา โชคชัย ใช้บทกวีไม่ต่างกับบันทึก สอดแทรกมุมมองและภาพชีวิตที่พบเห็นผ่านฉันทลักษณ์อันเรียบง่ายของกลอนแปด บทกวีทั้ง 39 ผลงานจึงเป็นดั่งของฝากที่โชคชัยตั้งใจมอบให้ผู้อ่าน โดยแบ่งเป็น 2 ภาค คือ บ้านเรา และบ้านเขา
สมุดบันทึกเล่มสีน้ำตาลที่ อ.โชคชัยยังใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นหนึ่งในของฝากที่ได้มาจากประเทศจีน ซึ่งทุกครั้งที่ใช้งานก็ช่วยเรียกคืนความทรงจำตอนที่เดินทางไปต่างแดน เช่นเดียวกับตอนที่ได้เห็นของฝากหลาย ๆ ชิ้น ไม่ว่าจะซื้อมาเอง หรือได้รับมา บางครั้งก็ยังเป็นถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์บทกวี ในเล่มนี้
ย่ามจากกวางสี ซีดีเพลงหน้าปกสาวชาวดอย ล้วนเป็นของที่ซื้อเก็บไว้ครั้งไปจีนในปี 2553 ของฝากที่ราคาไม่สำคัญเท่าคุณค่าทางใจ ถูกพูดถึงในหลายบทกวี การเดินทางยังทำให้นักเขียนวัย 47 ปีพบว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีคนแทบทุกพื้นที่ อย่างประเทศกัมพูชาที่ได้สัมผัสเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน กำลังก่อสร้างโรงแรมมากมายเพื่อรองรับชาวต่าวชาติ กลายเป็นบทกวี "เสียมเรียบศิวาลัย" เสียดสีกระแสทุนนิยมที่ทำให้เกิดการสร้างโรงแรมและบูชานักท่องเที่ยวแทนปวงเทพ แทบไม่ต่างจากสถานการณ์ที่หลายเมืองท่องเที่ยวกำลังเผชิญ
เกือบ 30 ปีที่ยึดอาชีพนักเขียน โดยเริ่มต้นจากการเขียนเรื่องสั้น ก่อนค้นพบว่าถนัดการเขียนบทกวี และมักใช้ลีลาเขียนวรรคละ 7 คำ เช่นเดียวกับ แรคำ ประโดยคำ หรือ สุพรรณ ทองคล้อย กวีซีไรต์ ที่โชคชัย เคยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ไม่เพียงกระชับสอดคล้องกับนิสัยคนพูดไว แต่ยังสร้างให้เกิดท่วงทำนองการอ่านที่แตกต่าง โชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์ เคยได้รางวัลซีไรต์กวีนิพนธ์ จากผลงาน "บ้านเก่า" เมื่อปี 2544 และมีสิทธิ์ลุ้นซีไรต์สมัยที่ 2 ในปีนี้ 56