นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวแสดงความเห็นว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ขอให้ถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นการทดสอบเจตจำนงของรัฐบาล เพราะเห็นว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องที่เร่งรีบเกินไป และเป็นกระบวนการและทุกคนควรมีสิทธิมีเสียง ทั้งนี้ กรณีของไทยไม่ได้แบ่งแยกเป็นแค่ 2 ฝ่าย เพราะบางฝ่ายมีคนภายนอกส่งอำนาจเข้ามาผ่านการสไกป์เข้ามาในประเทศ ถือเป็นการแทรกแซงจากภายนอก
ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะอดีตกรรมการ คอป. กล่าวว่า คอป.ได้เตือนรัฐบาลปัจจุบันว่าอย่าเร่งสร้างความปรองดองมากเกินไป โดยเราต้องรู้ก่อนว่าต้นเหตุของความขัดแย้งว่ามาจากอะไร คอป.จึงเสนอว่าควรจะมีเจ้าภาพหรือเวทีในการทำเรื่องความปรองดองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็น พบว่าสังคมเอาใจช่วยให้คนทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ
ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังได้เข้าพบนายโทนี่ แบลร์ พร้อมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "ได้ชี้แจงกับโทนี่ แบลร์ อีกครั้งว่าที่ไม่เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่แสดงความจริงใจที่จะปฏิรูปจริง และไม่ยอมที่จะทบทวนความเหมาะสมเรื่องการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้ง ๆ ที่กฎหมายฉบับนี้สร้างความแตกแยกอย่างมาก และหลายฝ่ายมองว่ามีผลในทางลบกับระบอบการปกครองประเทศ
ส่วนนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่สังคมไทยตื่นตัวในการเรื่องสันติภาพและการสร้างความปรองดอง ซึ่งจะบีบให้การเมืองต้องเดินเข้าสู่กระบวนการปรองดอง แม้จะมีนักการเมืองไม่เห็นด้วย