วันนี้ (19 ก.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า โครงการลงทุนพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านการคมนาคมนี้ มีภาระผูกพันทางหนี้ ถึง 50 ปี และกำหนดการชำระเงินต้นในการกู้จะเริ่มต้นในปีที่ 7 ของโครงการ ซึ่งหากโครงการสำคัญอย่างรถไฟความเร็วสูงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ก็จะสามารถจัดเก็บเงินเพื่อชำระหนี้ได้ ดังนั้นควรที่จะลดกรอบวงเงินนกู้ให้อยู่ที่ 200,000 ล้านบาทในปีแรก เพื่อไม่เป็นภาระต่อการชำระหนี้ของรัฐบาลในอนาคต
หากแต่ โครงการดังกล่าวไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ก็สุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลจะใช้เงินสนับสนุนโครงการทำให้มีการใช้เงินในโครกงารเพิ่มสูงขึ้นอีก และเมื่อพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงตามที่รัฐบาลระบุว่า เป็นการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งประเทศจีนและมาเลเซีย ก็มีโอกาสที่โครงการจะเสี่ยงต่อการขาดทุน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย เส้นทางกรุงเทพ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กม. ใช้วงเงิน 120,000 ล้านบาท ซึ่งสิ้นสุดเส้นทางที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
รวมถึง โครงการรถไฟความเร็วสูงที่ เชื่อมโยงประเทศลาว ในเส้นทาง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ที่ใช้วงเงินกว่า 170,000 ล้านบาท ซึ่งหากต้องการที่จะเชื่อมโยงไปยังประเทศลาว เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงควรสิ้นสุดที่ จ.หนองคาย จึงจะมีความเหมาะสม จึงเห็นได้ว่า เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงสายต่าง ๆ ไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้
ดังนั้น เพื่อความรัดกุม และเพิ่มความละเอียด รอบคอบ ในการดำเนินโครงการและใช้งบประมาณให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยในปี 57 ซึ่งถือว่าเป็นปีแรกในขั้นตอนการเตรียมงานของโครงการจึงควรตั้งงบประมาณอยู่ที่ ราว 120,000 ล้านบาทในช่วงแรก หรืออยู่ที่ราว ๆ 200,000 ล้านบาท ทำให้สามารถดำเนินโครงการโดยมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาระการชำระหนี้น้อยกว่าการกู้เงินครั้งเดียวด้วยวงเงินเต็ม 2 ล้านล้านบาท และเมื่อเทียบเคียงกับโครงการเงินกู้โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ได้ใช้วิธีการพิเศษในการประมูลโครงการในครั้งเดียว ซึ่งอาจเกิดปัญหาตามมา