ชาวสวนยางจ.อุตรดิตถ์ ยังไม่ได้รับเงินชดเชยปัจจัยการผลิต หลังรัฐตรวจสอบพื้นที่
จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็น 1 ใน 10 จังหวัดแรก ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิต ไร่ละ 2,520 บาท ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน แต่ชาวสวนยางในจังหวัดอุตรดิตถ์บางคนยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เพราะยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบพื้นที่สวนยางพาราของเกษตรกรว่าเป็นไปตามข้อมูลหรือไม่ ขณะที่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนพบว่า มีชาวสวนบางส่วน ถูกตัดสิทธิ์เพราะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
นางนฤมล ตัน ชาวบ้านตำบลบ้านด่านนาขาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ หนึ่งในชาวสวนยางพารา ที่สับสน และผิดหวังที่ไม่ได้รับเงินค่าปัจจัยการผลิต ไร่ละ 2,520 บาทจากรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หลังเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ยืนยันว่าสวนยางพาราไม่เข้าหลักเกณท์จะได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากไม่ได้กรีดยางต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี หลังสามีเสียชีวิตลงเมื่อหลายปีก่อน
แม้จะได้รับการระบุให้ เป็นหนึ่งใน 10 จังหวัดแรก ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะจ่ายเงินปัจจัยการผลิต แก่ชาวสวนยางพารา ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. แต่เกษตรกรในจ.อุตรดิตถ์ยังไม่ได้รับเงิน สาเหตุเพราะอยู่ระหว่างการลงทะเบียนเกษตรกร และ ตรวจสอบสวนยาง โดยเกษตรกรบางส่วนระบุว่ายังไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินชดเชยหรือไม่ เพราะปลูกยางพาราในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์
มาตรการช่วยเหลือที่มีหลายขั้นตอน และ ล่าช้า ทำให้ชาวสวนยางพาราบางส่วนเริ่มไม่พอใจ และตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุของปัญหาของเกษตรกร มาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล
นโยบายการส่งเสริมปลูกยางพาราของรัฐบาล ทำให้ภาคเหนือมีเนื้อที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ระบุว่าในปี 2553 ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกยางพารา 860,000 ไร่ ขณะที่กลุ่มเครือข่ายผู้ปลูกยางพาราภาคเหนือประเมินว่า ปัจจุบันภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 1,700,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นต้นยางที่สามารถกรีดยางได้แล้ว เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น