ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่ายปชช.จ่อรวมตัวตั้งสมาพันธ์ "ค้าน" การส่งเสริมค้าบุหรี่ในประเทศ

สังคม
2 ต.ค. 56
05:32
62
Logo Thai PBS
เครือข่ายปชช.จ่อรวมตัวตั้งสมาพันธ์ "ค้าน" การส่งเสริมค้าบุหรี่ในประเทศ

จากกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ชะลอการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่จะกำหนดให้บุหรี่ต้องมีภาพคำเตือนขนาด ร้อยละ 85 บนซอง ตามคำร้องของบริษัทบุหรี่ต่างชาติ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชน รวมตัวกันตั้งองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการส่งเสริมการค้าบุหรี่ในประเทศ รวมถึงกำหนดมาตรการส่งเสริมสุขภาพประชาชน

เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ พร้อมด้วยเครือข่ายรณรงค์ด้านสาธารณสุข หลายองค์กร เตรียมจัดการประชุมเพื่อกำหนดท่าที และร่วมมือกันก่อตั้ง สมาพันธ์เครือข่ายเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

 
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า จากกรณีที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายสาธารณะที่มุ่งปกป้องสุขภาพของประชาชน และหากบริษัทบุหรี่แทรกแซงสำเร็จ กรณีนี้จะกลายเป็นตัวอย่างที่เปิดช่องให้มีการแทรกแซงนโยบายด้านสุขภาพอื่นๆในอนาคต
 
จากกรณีดังกล่าวจึงต้องเชิญเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของคนไทย เข้าร่วมประชุม และเป็นพันธมิตรร่วมกันก่อตั้งสมาพันธ์เครือข่ายเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ขึ้น เพื่อร่วมกันปกป้องนโยบายสาธารณะ และมาตรการที่มุ่งปกป้องสุขภาพของประชาชน และเพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

    

 
สำหรับภารกิจแรกหลังจากก่อตั้งสมาพันธ์ฯเรียบร้อยก็จะเชิญพันธมิตรที่ลงนามยืนยันเข้าร่วมสมาพันธ์แล้วกว่า 400 องค์กร นัดประชุมใหญ่ครั้งแรก เพื่อเลือกตั้งประธานสมาพันธ์ฯ รวมทั้งคณะทำงานภายใน จากนั้นก็จะเริ่มทำงานขับเคลื่อนรณรงค์ทันที โดยภารกิจแรก คือ เคลื่อนไหวให้มีการออกกฎหมายขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น ร้อยละ 85 ให้ได้ และจากนั้น ก็จะร่วมมือกันรณรงค์เพื่อรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง
 
ขณะที่ นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทบุหรี่ต้องการจัดการกับประเทศไทย เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ไม่กล้าออกมาตรการต่างๆที่มีผลในการลดการสูบบุหรี่ องค์กรต่างๆ ที่ดูแลเรื่องคดีความที่บริษัทบุหรี่ฟ้องรัฐบาล จะต้องไม่หลงกลบริษัทบุหรี่ที่ไม่ต้องการให้ประเทศไทย เป็นต้นแบบที่ดีแก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
 
ด้านน.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศบรูไน เป็นประเทศที่มีกฎหมายบังคับให้มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน คือ ร้อยละ 75 ของซองบุหรี่ ซึ่งส่งผลให้การสูบบุหรี่ในบรูไนรุนแรงน้อยลงกว่าประเทศไทยมาก
 
ดังนั้น จึงเชื่อว่า การเพิ่มขนาดภาพคำเตือน จะเป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเด็กไทยเริ่มสูบบุหรี่ปีละ 250,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 685 คน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง