วันนี้ (4 ต.ค.) นางแสงเดือน ชัยเลิศ เจ้าของปางช้าง และ 1 ในผู้คัดค้าน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ เผยว่า จุดประสงค์สำคัญก็คือการคัดค้านการค้างาช้าง โดยกลุ่มอนุกษ์ช้างทั่วโลกกว่า 50 กลุ่มได้เตรียมตัวเพื่อไปยื่นหนังสือกับรัฐบาลเพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ซึ่งถูกจับตาในการค้างาช้างอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเข้างาช้างจากประเทศแถบแอฟริกา ทั้ง เคนย่า ซิมบับเว แคเมอรูน ซึ่งในปัจจุบันการค้างาช้างในไทยได้กระทำอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งมีทั้งโรงงานแปรรูปงาช้าง แหล่งค้าขาย ซึ่งครั้งหนึ่งไทยได้เคยเสนอตัวเป็นฮับในการค้าด้วย รวมถึงยังมีการจับกุมการค้างาช้างในหลายรูปแบบ ทั้งการจับได้บนเครื่องบิน การจับที่ต้นทางเพื่อมาส่งยังประเทศไทย โดยไทยไม่สามารถที่จะปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการค้างาช้างได้ ซึ่งจะนำไปสู่การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศแถยุโรปได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องออกมารณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการค้างาช้างดังกล่าว ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที
นางแสงเดือน ยังระบุว่า เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯฉบับใหม่ แต่รัฐบาลควรที่จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องในการเลี้ยงช้างมาพูดคุยและหารือ เพื่อมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายซึ่งจะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องเหมาะสม เนื่องจาก กฎหมายฉบับดังกล่าวมีช่องโหว่ในหลายส่วน อาทิ การเคลื่อนย้ายช้างที่ต้องขออนุญาตไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ล่วงหน้า 30 วัน ซึ่งกรณีที่ช้างป่วยไม่สามารถกระทำเช่นนี้ได้ รวมถึงบทลงโทษด้วยการจำคุก 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 12 ล้านบาท ก็ไม่มีความเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับ การเพิ่มการคุ้มครองดูแลลูกช้าง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการจับลูกช้างป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขและจัดระเบียบอย่างจริงจัง และแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายเป็นฉบับเก่าที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2482
รวมถึงการสำรวจและขึ้นทะเบียนช้างเพื่อจัดระเบียบในการครอบครองช้าง และการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบการดูแลช้างและติดตามการดูแลช้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการตัดงาช้างที่ไม่เหมาะสม