อียูเห็นพ้องแนวทางแก้ปัญหาผู้อพยพ
รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) 28 ชาติที่เข้าร่วมการประชุมในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยี่ยม เพื่อหาทางแก้ปัญหาวิกฤตผู้อพยพจากแอฟริกาเหนือ เห็นพ้องได้ข้อสรุปในแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนในภูมิภาค โดยอนุมัติเห็นชอบแผนจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการทางทะเล เพื่อปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ที่ลักลอบขนผู้อพยพหลายพันคนต่อสัปดาห์ เดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้ามาในยุโรป แต่แผนปฏิบัติการจะต้องได้รับมติรับรองจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก่อนจะมีผลในทางปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ
ปัญหาผู้อพยพทางเรือกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่สร้างความหนักใจให้กับชาติในยุโรปที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอิตาลี ซึ่งเผชิญปัญหาผู้อพยพมากที่สุด นายเปาโล เจนติโลนี รัฐมนตรีต่างประเทศของอิตาลี แสดงความยินดีในแนวทางการแก้ปัญหาของอียูและระบุว่า วิกฤตการณ์ผู้อพยพไม่ใช่ปัญหาของอิตาลีเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเร่งด่วนของภูมิภาค ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้อพยพทางเรือมากกว่า 10,000 คนที่ได้รับการช่วยเหลือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากลิเบียที่ลักลอบเข้ายุโรปเพื่อหนีภัยการสู้รบในบ้านเกิด
องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานหรือไอโอเอ็ม (IOM) ประเมินว่ามีผู้อพยพประมาณ 1,830 คน ที่เสียชีวิตในปี 2558 ระหว่างเดินทางรอนแรมในทะเลเพื่อลักลอบเข้ายุโรป ซึ่งเพิ่มสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2557 ที่มีผู้อพยพเสียชีวิต 207 คน แม้จะเห็นพ้องร่วมกันในแนวทางการแก้ปัญหาแต่ชาติสมาชิกอียูก็มีความเห็นที่แตกต่างกันในแผนโควต้ารับผู้อพยพของแต่ประเทศ โดยสเปน ฝรั่ง อังกฤษและฮังการี ไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว