"ประมนต์" คัดค้านนิรโทษกรรมคดีทุจริตคอร์รัปชั่น

เศรษฐกิจ
29 ต.ค. 56
05:26
43
Logo Thai PBS
"ประมนต์" คัดค้านนิรโทษกรรมคดีทุจริตคอร์รัปชั่น

ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเผยจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมองว่าหากมีการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนยุติธรรม และกฎหมายของบ้านเมืองจะถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง รวมทั้งยังเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ให้กับเยาวชน และบ้านเมืองคงยุ่งเหยิงแน่

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เปิดเผยถึงจุดยืนขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า จุดยืนขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ทางภาคธุรกิจขอมุ่งประเด็นเฉพาะในกรณีที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะเห็นว่าถ้าการกระทำนี้เกิดขึ้นได้ ความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนยุติธรรม และกฎหมายของบ้านเมืองจะถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง เพราะว่าไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าเห็นว่าอันนี้ทำได้ คิดว่าเป็นตัวอย่างไม่เหมาะสมในอนาคตแน่นอน และจะสร้างค่านิยมใหม่กับเยาวชนของเราที่คิดว่าถ้าโตขึ้นมาแล้วเขาโกง แล้วเขามีอำนาจในการที่จะออกกฎหมายในการที่จะนิรโทษกรรมสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ คิดว่าบ้านเมืองคงยุ่งเหยิงแน่
 
ส่วนจุดที่จะนำไปสู่นิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น เพราะว่ากฎหมายพูดว่าผู้ประกอบการกระทำผิดกฎหมาย คำว่าผู้ประกอบการกระทำผิดกฎหมาย และมีช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งเราตีความกันว่าหมายความว่าการกระทำการผิดกฎหมายทุกประเภท ซึ่งรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย เป็นสิ่งที่เราได้รับการ อย่างน้อยวิเคราะห์จากฝ่ายกฎหมาย ถ้าเผื่อไม่เป็นจริงตามนั้น ถ้าไม่รวมทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย เราก็ไม่มีประเด็นจะไปคัดค้าน เพราะว่าเราไม่มีหน้าที่ที่จะมีความเห็นทางด้านการเมือง ถ้าเป็นเรื่องอื่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ให้เป็นวาระของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้ที่ออกมาให้ความเห็น
 
ทั้งนี้ ที่มีการออกมา เพราะว่ามีการปรับปรุงมาตรา 3 เกิดขึ้น หลังจากผ่านวาระที่ 1 มาแล้ว ส่วนที่มีข้อสังเกตประการหนึ่งที่ทางองค์กรได้เสนอมา คือข้อ 6 อาจจะไปขัด หรือแย้งกับอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต หรือยูเอ็นซีเอซี ถ้าไปขัดแย้งกับการลงนามอนุสัญญานั้น วันนี้จะมีการปรึกษากับผู้แทนของยูเอ็น โดยจะปรึกษาในสาระสำคัญ เพราะว่าการลงนามเป็นการลงนามเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ลงนามร่วมกันว่ามีการต่อต้านการทุจริตยังไง ขั้นตอนเป็นยังไง ความรับผิดชอบซึ่งกันและกันเป็นยังไง ถ้าเผื่อมีการนิรโทษกรรมการทุจริตได้ 
 
สมมติว่า ถ้าเกิดมีคดีทุจริตของคนต่างชาติเข้ามาอยู่ด้วย คิดว่าผู้ที่เป็น ประเทศที่คนๆ นั้นที่เป็นพลเมืองอยู่ด้วยคงรับไม่ได้ว่าจะไปนิรโทษกรรมที่ขัดกฎหมายของเขาคงเป็นไปไม่ได้แน่ ถึงแม้ว่าไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเผื่อประเทศไทยลงนามแล้วไม่ปฏิบัติตามข้อพันธผูกพัน โดยที่ไม่สนใจว่าเราไปทำอะไรไว้แล้วมายกเลิกเอง คิดว่าความเชื่อถือระหว่างประเทศที่มีจะถูกบั่นทอนไป และถ้าเป็นนักลงทุนต่างชาติเขาจะต้องตั้งคำถามว่าแม้ว่ากฎหมายยุติธรรมบ้านเราเชื่อไม่ได้ อะไรจะเป็นความมั่นคงให้เขาเชื่อมั่นได้ ถ้าเข้ามาทำงานในประเทศไทยแล้วจะได้รับการดูแลที่ถูกต้อง
 
นอกจากคดีทุจริตรถและเรือดับเพลิงที่ถูกเข้าข่ายยกเว้นจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว เข้าใจว่าคดีเอื้ออาทรน่าจะเป็นคดีที่เข้าข่าย และถ้าจะตีความถึงการกระทำทุกอย่างมาจนถึงเดือนสิงหาคมปี 2556 อาจจะมีคดีอย่างเช่น คดีการทุจริตจำนำข้าว ซึ่ง ป.ป.ช.กำลังดำเนินการอยู่นั้นหลุดไปด้วยหรือเปล่า ซึ่งเป็นข้อสงสัย เพราะว่าถ้าครอบคลุมมาถึงเดือนสิงหาคมปี 2556 หมายความว่าการจำนำข้าว พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะเข้าข่ายถูกนิรโทษกรรมหมด
 
หลังจากการแถลงจุดยืนแล้ว ทางองค์กรจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้างนั้น มีแผนอยู่ แต่ว่าคงยังไม่สามารถจะพูดได้ทันที คิดว่าขึ้นอยู่กับการตอบสนองของ 1. ในสมาชิกของเราเองว่าหลังจากนี้จะมีความคิดเห็นอย่างไร และ 2. ต้องดูปฏิกิริยาของทางรัฐสภาว่ารับฟังกระแสจากมวลชนแค่ไหน ถ้าเผื่อว่าไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะสื่อตรงนี้ คงจะต้องมีวิธีการอื่นที่เราจะต้องพยายามหาวิธีการที่จะทำให้ขบวนการของเรามีพลังมากขึ้น
 
สำหรับความกังวลต่อกลุ่มการเมือง หรือว่ากลุ่มการเมืองนอกสภาที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น คิดว่าถ้าไปถึงขั้นความรุนแรง มีผลแน่  เพราะว่าธุรกิจประเทศไทยอยู่ในความหวังที่ว่าประเทศไทยจะบริหารบ้านเมืองกันด้วยความสงบสุข ถ้าตราบใดมีความสับสน มีความขัดแย้ง จนกระทั่งมีความรุนแรง ความมั่นใจของนักธุรกิจทั้งคนไทย และต่างชาติก็จะสูญเสียไป เชื่อว่ามีผลกระทบอย่างรุนแรงแน่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง