มาตรฐาน
การขึ้นค่าตั๋วชมภาพยนตร์บางเรื่องโดยข้ออ้างว่าใช้ทุนสร้างสูงเทียบเท่าภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ทำให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและคนที่ทำงานในวงการภาพยนตร์ ถึงมาตรฐานของราคาค่าเข้าชม ว่านี่อาจเป็นการขึ้นราคาด้วยความพอใจของโรงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว
ฉากแอ็กชั่นดุเดือด ผสมคอมพิวเตอร์กราฟิค และใช้เทคนิคถ่ายทำด้วยระบบ 3 มิติ จนเหมือนผู้ชมหลุดเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริงทำให้ ต้มยำกุ้ง 2 ใช้ทุนสร้างไปถึง 500 ล้านบาท และเป็นหนึ่งในตัวเก็งภาพยนตร์ที่น่าจะทำรายได้สูงสุดแห่งปี
หากนี่กลับเป็นข้ออ้าง ที่โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ ติดป้ายประกาศขอปรับขึ้นราคาค่าเข้าชมภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง 2 ตลอดโปรแกรมการฉาย จากการสำรวจ พบว่าโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพส่วนใหญ่ยังคงมีราคาเท่ากับภาพยนตร์เรื่องอื่น แต่ในโรงภาพยนตร์สาขาต่างจังหวัด และชานเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จะมีราคาค่าตั๋วในระบบปกติแพงกว่าประมาณ 10-20 บาท โดยสหมงคลฟิล์ม ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องต้มยำกุ้ง ปฏิเสธว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เป็นการตัดสินใจของทางโรงภาพยนตร์เอง
เรื่องราวตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของพระมหากษัตริย์ 3 พระองค์ จนถึงความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามระหว่างอยุธยากับหงสาวดี ทำให้ สุริโยไท มหากาพท์ภาพยนตร์ ปี 2544 มีความยาวถึง 180 นาที จึงขึ้นราคาค่าเข้าชม เพราะโรงภาพยนตร์ทำรอบฉายต่อวันได้น้อย เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับภาพยนตร์ยิ่งใหญ่จากฮอลลีวู้ดมาแล้วหลายเรื่อง ซึ่งมักจะใช้การขึ้นราคาทดแทนรอบฉายที่ลดลง นอกจากนี้ ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ส่วนใหญ่ก็มักเพิ่มอำนาจต่อรองในการขอส่วนแบ่งรายได้จากโรงภาพยนตร์จากเดิมร้อยละ 50 เป็น 2 ใน 3 ของค่าเข้าชม
ก่อนหน้านี้เพียง 3 เดือน โรงภาพยนตร์ในไทยเคยตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องราคาตัวที่แพงเกินไปไม่คุ้มค่ากับบริการที่ผู้ชมได้รับ จนถูกคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรียกเข้าไปชี้แจงถึงต้นทุนการดำเนินการ แต่ที่สุดเรื่องก็เงียบหายไป เช่นเดียวกับกรณีนี้ที่ทางผู้บริหารโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์เลือกที่จะไม่ชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้น และท้ายที่สุดเรื่องอาจเงียบหายไปเช่นเดิม