ความเห็นต่างในร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับแก้ไขทั้งในฝ่ายของเจ้าของช้าง ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบตรง และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเจ้าของร่างกฎหมายในฐานะผู้ดูแลและแก้ไขปัญหาช้างเกือบจะกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และแม้ขณะนี้จะสามารถตกลงกันได้ในเบื้องต้นว่า จะยังไม่มีการนำช้างเข้ามาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็จำเป็นที่จะต้องพูดถึงรายละเอียดของกฎหมายว่าจะมีทางออกอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องช้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน
วังช้างอยุธยา แล เพนียด มีช้างอยู่ในความดูแลทั้งหมด 136 เชือก จะเห็นว่าที่นี่มีลูกช้าง ที่เกิดจากการเพาะพันธุ์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 เชือก ดังนั้นการดูแลช้างจำนวนมากต้องอาศัยพื้นที่ที่ค่อนข้างกว้าง เพื่อแยกโซนให้เหมาะสมกับช้างแต่ละประเภท
มาตราที่ดูเหมือนจะมีปัญหามากที่สุด คือ มาตรา 3 ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งช้าง ซากของช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของช้าง เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 7 ซึ่งทั้ง 3 มาตรา เห็นได้ชัดว่าการจะอนุญาตหรือไม่ อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพียงผู้เดียว รวมถึงการควบรวมช้างบ้านและช้างป่า ไว้ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพียงกระทรวงเดียว ยิ่งทำให้ช่องทางการทุจริตนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างเลี้ยงทำได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ยังระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังเป็นเพียงร่างที่สามารถแก้ไข และพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีการเสนอทางเลือกอื่นนอกจากการออกกฎหมายฉบับนี้ เช่น มูลนิธิเพื่อนช้างเสนอให้มีการออกกฎหมายช้างโดยเฉพาะ และข้อเสนอกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง ที่ต้องการให้ยังคงสถานะช้างเลี้ยงไว้ในพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ แต่ปรับแก้กฎหมายให้มีความทันสมัยขึ้น