"ครม."หารือแนวปฏิบัติผลตัดสิน "คดีปราสาทพระวิหาร"

การเมือง
12 พ.ย. 56
06:35
36
Logo Thai PBS
"ครม."หารือแนวปฏิบัติผลตัดสิน "คดีปราสาทพระวิหาร"

การประชุมครม.วันนี้ (12 พ.ย.) นายกรัฐมนตรีเตรียมหารือสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง เพื่อวางแนวการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และจะนำคำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารเข้าหารือทุกหน่วยงาน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการระหว่างไทยและกัมพูชา รวมถึงการชี้แจงต่อประชาชน

ประชุมครม.วันนี้เป็นไปท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดยมีตำรวจ 59 กองร้อยหรือกว่า 8,000 นาย ทั้งประจำการและตระเวนดูแลอย่างเข้มงวด บริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมครม.จะนำผลคำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารเข้าหารือ เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการว่าจะปฏิบัติตามคำตัดสินอย่างไร รวมถึงการพิจารณาร่วมกัน เพื่อขอความเห็นชอบการวางกรอบเจรจาทวิภาคี 2 ประเทศ นอกจากนั้นก็จะพิจารณาและกำหนดแนวปฏิบัติให้กับทุกหน่วยงาน เพื่อเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในคำตัดสินของคดี

<"">

 

ขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์บ้านเมือง ที่ยังคงการชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.เตรียมเข้ารายงานสรุปเหตุการณ์ โดยพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เชื่อว่าการประกาศลาออกจากการเป็นส.ส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเพิ่มเงื่อนไขการชุมนุมด้วยการอารยะขัดขืนให้ผู้สนับสนุนหยุดงานในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน เป็นกลยุทธในการชุมนุม ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยังคงปฏิเสธความจำเป็นที่จะประสานความร่วมมือกองทัพเข้าร่วมดูแล เลขาธิการสมช. กล่าวย้ำว่า เงื่อนไขของคดีปราสาทพระวิหารในศาลโลกและการคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมถือว่าสิ้นสุดลงแล้วทั้ง 2 กรณี ซึ่งผู้ชุมนมไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงกล่าวหาพาดพิงรัฐบาลได้

<"">
<"">

 
สำหรับเงื่อนไขที่ว่าด้วยร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สมช.เชื่อว่าสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากวานนี้ (11 พ.ย.) ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติไม่รับหลักการในวาระที่ 1 หรือคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ไปแล้ว ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 141 เสียง หลังใช้เวลาอภิปรายแสดงความเห็นกันเกือบ 10 ชั่วโมง และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 147 ประกอบกับมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หากส.ว. ไม่เห็นชอบกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ส.ว.ยับยั้งร่างกฎหมายไว้ และส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งร่างกฎหมายคืน แต่วุฒิสภาก็ไม่ได้แจ้งเหตุผลการไม่รับหลักการร่างกฎหมายเพิ่มเติม ว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า หลังครบกำหนด 180 วันที่วุฒิสภาส่งคืนให้สภาผู้แทนราษฎรแล้ว สภาผู้แทนราษฎรถึงจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง