หญิงรายหนึ่ง เธอทำอาชีพค้าขายและเลี้ยงลูกคนเดียว รายได้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยดี เธอจึงตัดสินใจกู้เงินนอกระบบ ตอนนี้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นหลายหมื่นบาทแล้ว และมีเจ้าหนี้ 4-5 ราย หลายครั้งก็มีคนมาตามทวงหนี้ถึงบ้าน ส่วนผู้หญิงอีกรายหนึ่งเป็นหนี้นอกระบบ เพราะเพื่อนที่เธอค้ำประกันให้ จำนวน 30,000 บาทหนีไป ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็ต้องส่งดอกเบี้ยวันละ 600 บาท
ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ยอมรับว่า สภาพปัญหาหนี้นอกระบบรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสังคมด้วย ขณะที่ ศูนย์จะดูแลเรื่องกฎหมายและประสานงาน สร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
อีกแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐก็คือ การใช้กลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แต่จากข้อมูลการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ปี 2552-2553 พบว่า มีผู้มาลงทะเบียนราว 1,181,133 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 122,406 ล้านบาท แต่ธนาคารกลับอนุมัติสินเชื่อได้ไม่ถึงครึ่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายผู้บริหารงาน ธนาคารกรุงไทย บอกว่า กฎระเบียบของธนาคารยังไม่เอื้อให้ช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเต็มที่ จึงเสนอให้มีการทบทวนกฎระเบียบ เพราะใช้มานานแล้ว
นายสมศักดิ์บอกอีกว่า การแก้หนี้นอกระบบต้องสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามาบทบาท เท่าที่สอบถามมาก็มีตัวอย่าง เช่น การตั้งสวัสดิการเงินออมวันละบาท เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนตรอกข้าวเม่า เขตบางกอกน้อย การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจะได้ผล ลูกหนี้ต้องรู้กฎหมายด้วย เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่า การกู้ยืมเงินที่คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ข้อตกลงที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเป็นโมฆะ เข้าข่ายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และผู้กู้ถือเป็นผู้บริโภค ซึ่งได้รับการคุ้มครองในด้านสัญญา