ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ประเมินยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยที่ผ่านมาว่า เน้นในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยอาศัยค่าจ้างแรงงานถูก และผลักดันการส่งออก แต่ไม่ได้เน้นพัฒนาความรู้ ทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปอย่างยั่งยืน และทำให้เกิดความเลื่อมล้ำด้านรายได้
นายโฆษิต ปั่นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาทีดีอาร์ไร ระบุว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้น และยังส่งผลเสี่ยงต่อฐานะการคลัง ทำให้ประชาชนมีหนี้สินสูงขึ้น เหล่านี้เป็นตัวบั่นทอนการเติบโตของประเทศ จึงเสนอให้รัฐบาลลดนโยบายประชานิยม และปรับโมเดลการพัฒนาประเทศใหม่ มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย สร้างความสมดุลของการส่งออกกับการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และปรับค่าตอบแทนทั้งค่าจ้างและประกันสังคม นายโฆษิตกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้า ปี 2557 ยังน่าเป็นห่วง หากภาคเอกชนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 4-5
ขณะที่ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. แถลงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปีนี้ อยู่ที่เพียงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากรายได้การท่องเที่ยว และดัชนีสำคัญอื่นๆ ทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออก ถดถอย
ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุรู้สึกผิดหวังที่มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ล่าช้าทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนบริหารจัดการน้ำ
ส่วนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า การส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1 เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีหน้ามีสัญญาณฟื้นตัว