นักวิชาการแนะทุกฝ่ายร่วมจัดตั้งสภาประชาชน
รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เปิดเผยถึงการประกาศของนายกรัฐมนตรีที่ขยายพื้นที่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯว่า คิดว่าเป็นเรื่องปกติในฐานะของผู้ที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพราะว่าการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นการประกาศเพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ไขปัญหาในภาวะที่เกิดวิกฤติ หรือว่าเป็นภาวะที่เกิดการดำเนินการที่เสริมขึ้นมา แต่ถ้าเกิดถึงขั้นว่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจจะเป็นการยกระดับขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เป็นสถานกาณ์ที่ไม่ปกติแล้ว มีความรุนแรง แต่ว่าถ้าระดับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นเรื่องปกติเพียงแต่ว่าต้องมีลำดับขั้นในการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่ได้เห็นแล้วต้องไม่บีบผู้ชุมนุมเกินไปไม่ว่าผู้ชุมนุมฝ่ายไหน และต้องมีการอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมสามารถใช้สิทธิ์และเสรีภาพของเขาได้
อย่างไรก็ตาม มองว่าในขณะนี้ไม่ถึงขั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะว่าตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ยังคงมาตรการที่จะดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนย้ายมาจากทางฝั่งราชดำเนินได้อยู่ เพียงแต่ว่าทางฝั่งผู้ชุมนุมต้องไม่ยกระดับมากเกินไปกว่าที่เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ต้องไม่เป็นการทำลายไม่ว่าจะเป็นสถานที่ของเอกชน หรือราชการ ณ ขณะนี้ที่มีการเข้าไปยึดสถานที่ราชการในลักษณะที่เข้าไปในอาคารสถานที่ หรือว่าข่าวกล่าวว่ามีการงัดแงะอะไรทำนองนี้ ซึ่งนับว่าเป็นสถานการณ์สุ่มเสี่ยงแล้ว ถึงแม้ว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ยังใช้ได้ แต่ว่าถ้ามันเข้าสู่สถานการณ์ฉุกเฉินแล้วทางรัฐบาลมองเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เจ้าหน้าที่เข้าไประงับ หรือต้องเข้าไปสกัด คิดว่าอาจจะมี พ.ร.กฉุกเฉินฯออกมา ซึ่งสุ่มเสี่ยงทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้ การชุมนุมในปัจจุบันถือว่าก้าวข้ามในจุดที่เรียกว่าการชุมนุมอย่างสงบสันติไป ถ้ามองในลักษณะของการเคลื่อนมวลชนแล้วเข้าปิดล้อมสถานที่ราชการ หรือแม้กระทั่งสถานที่ที่เป็นที่สัญจรไปมาของเอกชนร่วมกัน คิดว่าลักษณะการปิดล้อมต้องทำให้ผู้ที่สัญจรไปมา หรือว่าผู้ที่จะเข้าทำงานยังคงสามารถทำได้อยู่ จะต้องไม่เป็นการเข้าไปในอาคารสถานที่ หรือการเข้าไปทำให้เกิดความวุ่นวายเสียหาย ซึ่งการเข้าไปในกระทรวงการต่างประเทศ การเข้าไปในกระทรวงการคลังในอาคารสถานที่ เข้าไปนั่งโต๊ะถ่ายรูปคิดว่าก้าวข้ามความสงบไปแล้ว เมื่อเทียบกับการไปปิดล้อมกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และยังคงให้เจ้าหน้าที่ หรือข้าราชการทำงานได้ มีคนสัญจรไปมาได้ อาจจะลำบากบ้าง แต่ยังคงทำได้ คิดว่ายังคงความสงบ แต่คิดว่าในขณะนี้ มันเกินเลยขั้นความสงบอาจจะต้องถอยออกมาสักขั้น
นายเจษฎ์ กล่าวถึงการเข้าไปในกระทรวงการคลังโดยกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวอ้างว่าไม่ได้เป็นการบุกรุกเข้าไป เพราะมีคนเปิดประตูให้เข้าไปได้ว่า คิดว่าเราอย่าไปพูดจุดที่มีคนเปิดประตูเข้าไปให้ เดี๋ยวคนที่เปิดประตูให้ก็จะต้องถูกตั้งวินัย เกิดถูกตั้งวินัย เกิดถูกสอบสวน ถ้ารัฐมนตรีบอกว่าอย่างนี้ผิดจะเอาออก ทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็จะยกระดับว่าทำร้ายประชาชน ทำร้ายข้าราชการ โดยไม่ต่อต้านอีก คิดว่าต้องมองว่าโดยรวม แม้รัฐมนตรีเปิดประตูให้เข้าไป คิดว่าไม่จำเป็นต้องเข้าไปในอาคารสถานที่ เพราะว่าไม่ใช่จุดยืนของการที่มีการชุมนุม จุดยืนของการชุมนุมคือถ้าต้องการให้รัฐมนตรีออก หรือต้องการให้ยุบสภา หรือต้องการพูดคุยกันเพื่อตั้งสภาประชาชน คิดว่าไม่ใช่เป็นการเข้าไปในสถานที่
สำหรับการตั้งคณะกรรมการภาคประชาชนนั้น คิดว่าเป็นไปได้ยาก ถ้าหากเป็นเพียงการตั้งจากฝั่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะจะไม่ได้รับการยอมรับจากอีกฝั่งหนึ่ง ณ ขณะนี้ คิดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งสภาประชาชนขึ้นมา แต่ว่าไม่ใช้สภาประชาชนของฝั่งนายสุเทพ หรือฝั่งของประชาชนราชดำเนินเท่านั้น เพราะว่าทางประชาชน หรือว่าผู้ชุมนุมฝั่งเสื้อแดงก็ไม่ยอมรับทางฝั่งค้าน แล้วก็ไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่ง ส.ส., ส.ว. 312 คน ก็ไม่ยอมรับศาลรัฐธรรมนูญ ฝั่งของราชดำเนิน และประชาชนจำนวนหนึ่งก็ไม่ยอมรับรัฐบาล ไม่ยอมรับรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งรัฐบาล เพราะฉะนั้น กลุ่มต่างๆ ที่ไม่ยอมรับใครเลย รวมถึงกลุ่มซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทั้งฝั่งรัฐบาล และฝั่งของฝ่ายค้าน อาจจะรวมถึงศาลรัฐธรรรมนูญ และองค์กรอิสระทั้งหมด ต้องมาคุยกัน และจัดตั้งเป็นสภาประชาชน อำนาจต้องกลับมาอยู่ประชาชน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่จากแค่ทางฝั่งราชดำเนิน และฝั่งนายสุเทพ
ส่วนการที่ผู้ชุมนุมไม่ยอมรับการยุบสภา และการลาออกของนายกรัฐมนตรีนั้น มองว่าถูกต้อง คิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายทางฝั่งเสื้อแดง และฝั่งราชดำเนินไม่ควรยอมรับการยุบสภา และการลาออก เพราะว่าไม่ว่าฝ่ายไหนต้องมาทำสัญญาประชาคมกับประชาชนก่อนว่าปัญหาที่เห็นอยู่ และทางแก้ปัญหา โดยจะดำเนินการตามนี้ และจะจัดให้มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนทุกหมู่เหล่าต้องได้มีโอกาสเข้ามาร่วมกัน และจากนั้นแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ประชาพิจารณ์เป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี แล้วค่อยมาประชามติ จากนั้นค่อยจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ช่วงระยะเวลาเหล่านี้ต้องมาคุยกันจะจัดตั้งเป็นสภาประชาชน หรือว่าจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติ แต่ไม่ใช่อยู่ๆ ดีไปขอพระราชทานแล้วขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าจะตั้งรัฐบาลแห่งชาติอย่างเรา แต่บรรดาประชาชนทุกกลุ่มเหล่านี้จะต้องคุยกันแล้วจัดตั้งขึ้นมาไม่ใช่ฝั่งหนึ่งฝั่งใด
ทั้งนี้ มองว่าไม่ควรจะมีเจ้าภาพในการจัดตั้ง ควรจะเป็นไปในลักษณะกฐินสามัคคี คือทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันแล้ว ณ ขณะนี้ แล้วต่างฝ่ายก็ไม่ฟังกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีข้อแม้ ก็ต่างคนต่างเดินมานั่งคุยกัน จะส่งตัวแทนมาก่อนก็ได้ ยิ่งวันนี้ นายกรัฐมนตรีบอกแล้วว่าพร้อมจะคุยกับนายสุเทพ ซึ่งคิดว่าฝั่งราชดำเนินไม่ควรจะเป็นแบบว่าเป็นการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ หรือเป็นกลุ่มนายสุเทพ แต่จะต้องเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาล และฝั่งเสื้อแดงก็ไม่ใช่จะสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นประชาชนที่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาล กลุ่มเหล่านี้ก็ส่งคนมาเป็นตัวแทน ทางรัฐบาลก็ส่งคนมาเป็นตัวแทน ศาลรัฐธรรมนูญ องค์อิสระ และทหารส่งใครมาเป็นตัวแทน ต่างคนต่างมาทอดกฐินสามัคคีแล้วมาคุยกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ สถานที่ก็สถานที่เป็นกลางก็ได้ หรือจะเป็นสนามหลวงก็ได้