ย้อนรอยเหตุการณ์
การบุกยึดสถานที่ราชการ เพื่อใช้ต่อรอง และกดดันรัฐบาล ถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์ และวิธีการมาเกือบทุกการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม รวมถึงการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในขณะนี้การชุมนุมกลุ่ม นปช. และการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้วิธีการนี้ แม้ผู้นำการชุมนุมจะสุ่มเสี่ยงถูกดำเนินคดี ข้อหาก่อการร้าย
การเข้าปิดล้อมสถานที่ราชการ เข้าไปในสำนักงบประมาณฯ กระทรวงการคลัง, กรมประชาสัมพันธ์ และกระทรวงการต่างประเทศ ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ" โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำ เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องจากการ เข้ายึดพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการทำงานของรัฐบาล และมองว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ของกลุ่มผุ้ชุมนุมที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
ย้อนไปก่อนหน้านี้ สมัยพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ร่วมกันทำการปิดล้อม และบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ช่วงระหว่างเดือนมีนาคมต่อเนื่องมาถึงเดือนเมษายน จนกระทั่งมีการสลายการชุมนุม และทำให้แกนนำถูกจับดำเนินคดี
ส่วนการชุมนุมที่ว่า เป็นวิกฤตการเมืองไทยในยุค เริ่มต้นปฏิเสธ ไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ปลุกกระแสคนให้ออกมามากครั้งหนึ่ง คือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ระหว่างปี 2548-2553 ซึ่งมีกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำ โดยเป็นการรวมตัวจากหลายองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีจุดประสงค์ ในการขับไล่นายสมัคร สนุทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสด์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลทั้ง 2 ชุด ถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
โดยประมาณกลางเดือนสิงหาคม ปี 2551 แกนนำพธม.นำมวลชน ปิดล้อมกระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม ก่อนจะเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมนานนับเดือน
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มใด และเวลาผ่านมาแล้วกี่ปี การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในการชุมนุมขั้นสูงในการต่อรองกับรัฐบาล คือ การปิดล้อมยึดสถานที่ราชการ แม้แกนนำเหล่านั้นจะรู้ว่า การกระทำสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีในข้อหา กบฎ, ซ่องโจร และก่อการร้ายก็ตาม