เมียนมาเปลี่ยนท่าทีพร้อมช่วยเหลือผู้อพยพที่ลอยลำอยู่กลางทะเล
กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ออกแถลงการณ์ว่าเมียนมามีความกังวลร่วมกับนานาชาติและพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่เดือดร้อนอยู่กลางทะเล แถลงการณ์ดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนท่าทีของเมียนมาหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ยืนยันมาโดยตลอดว่าปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาไม่ใช่ปัญหาของเมียนมา รวมทั้งเคยกล่าวโทษว่าไทยว่าเป็นสาเหตุของเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ยอมปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง
มีการวิเคราะห์ว่าท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของรัฐบาลเมียนมา เป็นผลมาจากการถูกกดดันจากองค์การสหประชาชาติ สหรัฐฯ และชาติสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการจัดประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ (2558) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้อพยพทางเรือร่วมกัน
ก่อนหน้านี้ มาเลเซียเคยประกาศว่าอาจใช้ฐานะของความเป็นประธานอาเซียน เรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญา ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนางเรทโน่ มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ที่ออกมาระบุว่าปัญหาผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาของทั้งภูมิภาคและในระดับนานาชาติ
ล่าสุดเช้าวันนี้ (20 พ.ค.2558) เรือผู้อพยพได้รับการช่วยเหลือขึ้นฝั่งเพิ่มอีก 2 ลำ ที่เมืองลังซา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นชาวโรฮิงญาจากเมียนมาและบังคลาเทศ รวมทั้งสิ้น 374 คน ซึ่งผู้อพยพเปิดเผยว่าพวกเขาลอยอยู่กลางทะเลมาแล้ว 4 เดือน ก่อนที่เรือประมงของอินโดนีเซียจะไปพบและช่วยลากเข้าฝั่ง
ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ระบุว่าขณะนี้มีเรืออย่างน้อย 5 ลำ ซึ่งมีผู้อพยพรวมกันอย่างน้อย 2,000 คน กำลังถูกทิ้งให้ลอยลำอยู่กลางทะเลใกล้กับเส้นแบ่งน่านน้ำของเมียนมาและบังคลาเทศ กว่า 40 วันแล้ว
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงกฎหมายการคุมกำเนิดของรัฐบาลเมียนมา ซึ่งกำหนดให้เว้นระยะห่างของการตั้งครรภ์ 36 เดือน เนื่องกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและอาจทำลายความหวังทางด้านประชาธิปไตยของกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้หญิงในเมียนมาที่ออกมาต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ถูกคุกคามทางเพศและถูกขู่ฆ่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่ร้ายแรง