81 ปีรัฐธรรมนูญ
นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก จวบจนวันนี้ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใช้บังคับเป็นกฎหมายสูงสุดแล้วรวมทั้งสิ้น 18 ฉบับ
อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ปี 2550 ทั้งนายเดโช สวนานนท์ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ กล่าวยอมรับตรงกัน ว่าสภาวการณ์และสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นเรื่องปกติที่จะปรับปรุงแก้ไขในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญเป็นไปตามยุคสมัยของการเมืองในแต่ละวาระ โดยรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัตติได้ แม้จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ตาม
แต่หากพิจารณาจากสาระสำคัญของกฎหมาย นายเสรี สุวรรณภานนท์ กลับไม่เห็นข้อบกพร่องที่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน จึงตีความเจตนาในการปรับแก้ของฝ่ายการเมือง อาจเกี่ยวข้องในการแสวงหาประโยชน์ พร้อมชี้ถึงปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ก็ล้วนแต่เกิดจากตัวนักการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ มากกว่าปัญหาในตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ไม่ต่างกับมุมมองของนายเดโช สวนานนท์ ที่สะท้อนภาพปัญหาความเห็นต่างทางการเมืองที่เกิดขึ้น ว่ามีต้นตอจากตัวบุคคลผู้นำกฎหมายไปใช้ โดยเฉพาะการตีความกฎหมายของฝ่ายการเมือง ที่มักมุ่งเน้นประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง จนนำมาซึ่งปัญหาในภาครวม ทั้งในมุมของโครงสร้างการเมืองการปกครอง และมุมเชิงความสัมพันธของบุคคลสังคมไทย
81 ปีกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 กลับเห็นผลต่างกัน โดยนายเสรีเชื่อว่าการเมืองการปกครองของไทยไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง แม้ภาคประชาชนจะตื่นตัว และมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่นายเดโช ชี้ว่าการเมืองไทยในวันนี้ มีพัฒนาการในทางบวก ทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและตัวนักการเมือง เพราะต่างก็ยึดหลักเหตุและผลในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะในและนอกสภา
ตลอด 81 ปีของการมีรัฐธรรมนูญบังคับใช้ภายใต้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั้น สะท้อนภาพชัดเจนว่า กฎหมายสูงสุดของประเทศได้ผ่านการร่างโดยผู้มีอำนาจ และนักการเมือง หรือกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกกันว่าคนชั้นนำ ทำให้ 18 ฉบับในอดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนตราบทบัญญัติและแก้ไขเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางข้อสังเกตว่า เกิดจากความคาดหมายที่จะกุมและยึดครองอำนาจรัฐ ไม่ได้เป็นเป็นผู้แทนปวงชน ที่จะใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชนอย่างแท้จริง