วันนี้ (12 ธ.ค.56) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและออกเสียงประชามติ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอส ว่า กกต.จะต้องเดินหน้าในการจัดการเลือกตั้ง โดยสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้กกต.ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ และยังคงต้องเดินหน้าทำตามหน้าที่เท่านั้น และขณะนี้ได้จัดการประชุมเบื้องต้นในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งและการดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ซึ่งวันนี้ ( 12 ธ.ค.56) จะประชุมดำเนินการกำหนดการเลือกตั้งในระบบต่าง ๆ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบ่งเขต รวมถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า โดยตามกระแสข่าวที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ กกต.แต่อย่างใด
กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและออกเสียงประชามติ ยังกล่าวว่า กกต.ชุดใหม่ซึ่งขณะนี้รอการโปรดเกล้าฯ ลงมาซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเร็ว ๆ นี้ คาดว่ากกต.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ไม่มีปัญหาจากการกดดัน เนื่องจากทุกคนมีความตั้งใจที่จะเข้ามาทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยกกต.ชุดปัจจุบันก็รอการเปลี่ยนหน้าที่เท่านั้น และไม่มีปัญหาในการลาออกไปก่อนซึ่งจะออกตามกำหนดเท่านั้น
ทั้งนี้ นางสดศรี มองว่า การปฏิวัติเป็นเพียงเงื่อนไขเดียว ที่จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งหากทหารเห็นว่าการปฏิงัติจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ซึ่งก็อยู่นอกเหนือการทำหน้าที่ของกกต. และแม้ว่านายกฯและคณะรัฐมนตรีจะลาออกจากการรักษาการ กกต.ก็ยังคงต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป
ขณะที่ การลาออกและสมัครเป็นการสมาชิกพรรคการเมือง ต่าง ๆในขณะนี้ ทางพรรคการเมืองจะต้องแจ้งมายังกกต.โดยเร็วที่สุด ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ที่ 30 วันก่อนการเลือกตั้งที่จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งกกต.มีความพร้อมอย่างมากทั้งการเลือกตั้งในทุกระดับ ซึ่งขณะนี้จะต้องดูสถานการณ์ทางการเมืองเท่านั้นว่าจะพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งหรือไม่เท่านั้น
นอกจากนี้ การปฏิบัติงาน ของรัฐบาลที่แม้ว่าจะมีการยุบสภาแต่รัฐบาลยังคงมีหน้าที่ในการบริหารประเทศต่อไป โดย ม.181 ระบุว่า รัฐบาลจะไม่สามารถทำงบประมาณผูกพันกับงบประมาณของรัฐบาลชุดต่อไปได้ และ พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 57 ก็ผ่านการพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาเนื่องจากมีการพิจารณาก่อนที่จะยุบสภา ขณะที่กรณีงบประมาณในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า มีการดำเนินการก่อนที่จะมีการยุบสภาหรือไม่ ซึ่งหากมีการดำเนินการก่อนการยุบสภาก็จะสามารถทำได้ แต่หากเป็นกรณีของงบประมาณที่เกิดขึ้นภายหลังการยุบสภาฯ กกต.ก็จะมีหน้าที่ในการพิจารณา