โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ มีเดียมอนิเตอร์ เปิดเผยผลศึกษาทีวีเพื่อสาธารณะในการรายข่าวสถานการณ์การชุมนุม ในฟรีทีวีสื่อสาธารณะ 3 ช่อง คือช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส ในวันที่ 24 พฤศจิกายน และ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ของมวลชน พบว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นช่องที่ให้ความสำคัญกับการรายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยมีการเปิดพื้นที่ให้แหล่งข่าวที่มีความสมดุล มีมุมมองในการรายงานที่รอบด้าน หลากหลาย มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจหาทางออก แนวทางการคลี่คลายของสถานการณ์
ขณะที่ พบว่าช่อง 11 มีสัดส่วนการรายงานสถานการณ์การชุมนุมใกล้เคียงกับช่องไทยพีบีเอส แต่ยังขาดความสมดุล รอบด้าน ในการให้พื้นที่แหล่งข่าว และเน้นแหล่งข่าวฝ่ายรัฐบาล สำหรับช่อง 5 พบว่า มีสัดส่วนการรายงานสถานการณ์การชุมนุมน้อยกว่าช่องอื่นๆ ทั้งยังเน้นการรายงานเหตุการณ์ตามสถานการณ์
สำหรับช่วงเวลาที่ออกอากาศพบว่า เวลาที่ทีวีสาธารณะทั้ง 3 ช่อง เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม คือประมาณ 35 ชั่วโมง เมื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ พบว่า ไทยพีบีเอสเป็นช่องที่มีการนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมืองมากที่สุดรวม 16 ชั่วโมง 37 นาที คิดเป็นร้อยละ 48 ของเวลารวมทั้งสามช่อง ตามด้วยช่อง 11 คิดเป็นร้อยละ 41 ส่วนช่อง 5 คิดเป็นร้อยละ 11