ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ป่าเตือน เสือเป็นสัตว์เลี้ยงไม่เชื่อง ไม่ควรเข้าใกล้ทุกกรณี

สิ่งแวดล้อม
25 พ.ค. 58
07:47
4,891
Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ป่าเตือน เสือเป็นสัตว์เลี้ยงไม่เชื่อง ไม่ควรเข้าใกล้ทุกกรณี

นักวิชาการด้านชีววิทยา มหิดล ระบุเสือเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อง มีสัญชาตญาณสัตว์ป่า คนไม่ควรเข้าใกล้ทุกกรณี การมุงดูหรือถ่ายรูปอาจสร้างความเครียดสะสมจนเสือก้าวร้าว ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมทำหนังสือแจ้งวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (วัดเสือ) อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ห้ามจัดแสดงเสือให้นักท่องเที่ยวชมเด็ดขาด หลังเกิดเหตุเสือทำร้ายเจ้าอาวาส

จากกรณี พระวิสุทธิสารเถร (หลวงตาจันทร์) เจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตามหาบัว อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ถูกเสือโคร่งอายุ 7-8 ปี ที่เลี้ยงไว้ตะปบใบหน้าและกัดแขนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเดินจูงเดินเล่น โดยคาดว่าเพราะเสือตกใจที่พระดึงเชือกคล้องคอ ท่ามกลางสายตานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนมาก เบื้องต้นสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากอากาศร้อนจัดจนทำให้เสือหงุดหงิด ประกอบกับพระวิสุทธิสารเถรไปต่างประเทศเป็นเวลานาน เสืออาจจำไม่ได้ ขณะที่ลูกศิษย์คนสนิทแก้ต่างว่าเจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตามหาบัว ไม่ได้ถูกเสือตะบปแค่หกล้ม สามารถเดิน ฉันอาหาร และพูดคุยได้ตามปกติ

นักวิชาการชี้ เสือเลี้ยงไม่เชื่อง-มีสัญชาตญาณผู้ล่า

วันที่ 25 พ.ค. 2558 รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า เสือเปรียบเหมือนแมวตัวโตซึ่งไว้ใจไม่ได้ เพราะเลี้ยงอย่างไรก็ไม่เชื่องเนื่องจากมีสัญชาตญาณของผู้ล่าอยู่ในตัว แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าหากให้เสือกินจนอิ่มก็จะลดทอนความดุร้าย ไม่อันตราย แต่ในความเป็นจริงหากเสือถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมจนเกิดฮอร์โมนความเครียดสะสมหรืออิ่มไม่จริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วัดป่าหลวงตามหาบัวก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะตามธรรมชาติเสือเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่สันโดษ และใช้พื้นที่จำนวนมากในการอยู่อาศัย การเข้าไปมุงดู จับต้อง หรือใกล้ชิดเพื่อถ่ายรูปอาจสร้างความเครียดให้เสือได้

"เมื่อสำรวจดูพบว่าคนไทยเป็นชาติที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเสือไม่น้อย แต่องค์ความรู้สะสมเรื่องเสือในไทยยังมีไม่เพียงพอ ทั้งในแง่การเลี้ยง พฤติกรรมของเสือ ความสัมพันธ์ระหว่างเสือกับคน ดังนั้น หนทางที่ปลอดภัยที่สุดคือควรไม่เข้าใกล้เสือในทุกกรณี แม้จะมีคนการันตีว่าเชื่องก็ตาม" อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ระบุ
 
ดร.สมโภชน์กล่าวว่า ยังมีข้อห่วงใยไปถึงการนำสัตว์ป่าไม่เฉพาะแม้แต่เสือ เข้ามาเลี้ยงในสวนสัตว์หรือส่วนอื่นๆ ซึ่งแม้มีจุดประสงค์ดีในการรักษาหรือเพิ่มขยายสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่การผสมพันธุ์กันเองแบบสายเลือดชิดใกล้ จนกลายเป็นสัตว์ที่มีพันธุกรรมบกพร่อง อีกทั้งกรงที่อยู่อาศัยแออัดไม่เพียงพอ เหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อตัวสัตว์

วัดป่าหลวงตามหาบัว เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่า "วัดเสือ" เนื่องจากมีเสืออยู่จำนวนมากและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและถ่ายรูปกับเสือโคร่งเบงกอลอย่างใกล้ชิด จากการสำรวจล่าสุดของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเมื่อต้นปี 2558 พบว่ามีเสืออยู่มากกว่า 140 ตัว การเดินทางมาชมเสือที่วัดแห่งนี้ถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมการท่องเที่ยวของบริษัททัวร์หลายแห่ง มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวจำนวนมาก

สำหรับอาการล่าสุดของพระวิสุทธิสารเถรนั้น แพทย์รพ.ธนกาญจน์ ระบุว่าอาการปลอดภัยแล้ว โดยคณะแพทย์ใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า 4 ชั่วโมงเพื่อรักษาบาดแผลที่ใบหน้าและแขนซึ่งถูกเสือตะปบและกัดจนกระดูกแตก   ขณะที่ลูกศิษย์คนสนิทอ้างว่าเจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตามหาบัว ไม่ได้ถูกเสือตะบปแค่หกล้ม สามารถเดิน ฉันอาหาร และพูดคุยได้ตามปกติ

ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ในฐานะผู้วิจัยเสือโคร่งในประเทศไทยกล่าวว่า เสือไม่ว่าจะอยู่ในป่าหรือจับมาเลี้ยงในสถานที่ที่มีระบบดูแลควบคุม แต่เขี้ยวและเล็บยังติดอยู่ตัวเสือ ฉะนั้น การเข้าใกล้ทุกครั้งจึงมีความเสี่ยง จึงอยากให้ทุกคนใช้วิจารณญาณในการชมหรือเล่นกับเสือ

"เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตว่าเสือเริ่มมีอาการหงุดหงิดหรือไม่ ที่พอจะดูออกก็คือคนที่เลี้ยงเสือตัวนั้น แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ทั้งหมด และสาเหตุส่วนมากที่ทำให้เสือเกิดอาการหงุดหงิดคือ ติดสัตว์ เครียด ไม่สบาย หรือเจอสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้ยเคย คนที่ไม่คุ้นเคย เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้เสือทำร้ายคนได้” ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า นครสวรรค์ แจงเพิ่ม

กรมอุทยานฯ สั่งวัดวางมาตรการป้องกันเสือทำร้ายนักท่องเที่ยว

ขณะที่ นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชา สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่ากรมอุทยานฯ เตรียมทำหนังสือส่งไปทางวัด เพื่อให้จัดทำมาตรการป้องกันเสือทำร้ายนักท่องเที่ยวและคนในวัด หลังจากเกิดกรณีเสือกัดเจ้าอาวาสขึ้น โดยห้ามทางวัดไม่ให้นำเสือออกมาเดินจูงโชว์ เดินเล่น ให้นมเสือ และเลี้ยงเสือโดยเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวอย่างเด็ดขาด

ส่วนการขอเข้าดูแลเสือของกลาง อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า ได้แต่งตั้งนายอดิศรนุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นประธานคณะทำงานร่วมกับตัวแทนจากท้องถิ่น เพื่อเข้าไปดูแลเสือของกลาง 147 ตัวที่ฝากทางวัดดูแล พร้อมหนังสือเป็นสัญญาฝากเลี้ยง โดยตั้งเงื่อนไข 3 เรื่องหลัก คือห้ามขยายพันธุ์เสือ ห้ามนำเสือออกมาโชว์หรือนำโชว์เพื่อเก็บเงินในเชิงพาณิชย์ และห้ามนำมาเดินจูงเล่น

ส่วนกรณีเสือกัดเจ้าอาวาส ทางกรมอุทยานฯ จะใช้เป็นเงื่อนไขในการยึดคืนเสือที่ฝากให้ทางวัดดูแลได้ทันที แต่ทางวัดขอเวลาในการแก้ปัญหา 1 เดือน โดยกรมอุทยานได้มีแผนรองรับเสือของกลางแล้ว หากในอนาคตต้องมีการยึดคืนเสือมาดูแลเอง โดยได้เตรียมสร้างกรงเลี้ยงและสถานที่ที่รองรับในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน และเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี คาดว่าสามารถรองรับเสือได้ 70-80 ตัว

                         

<"">

ผู้จัดการสวนเสือศรีราชาชวนสังเกตพฤติกรรมเสือ "เริ่มก้าวร้าว"
นายดุศิษย์ แก้วบุดศา ผู้จัดการสวนเสือศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวว่า แม้ทางสวนเสือฯ จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดให้กับเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยว แต่ก็ย้ำเตือนถึงการให้ทุกคนตระหนักเสมอถึงอันตรายที่เกิดขึ้นได้ โดยวิธีสังเกตเสือที่เริ่มก้าวร้าวได้ง่ายๆ คือ ใบหูที่ลู่ไปข้างหลังเล็กน้อยจะกางมาข้างหน้า และมีแววตาระวังภัย ถ้าพบเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ ให้ค่อยๆ หลบออกมา  อีกทั้งควรระวังเท้าหน้าของเสือที่เวลาตกใจมักจะตะบปคนใกล้ตัว เพื่อยึดเป็นที่พึ่ง

"อายุของเสือก็สำคัญต่อความปลอดภัยของผู้คนที่เข้าใกล้ ซึ่งเสือที่จะเข้าใกล้ไม่ควรเกิน 2-6 เดือน เพื่อให้ผู้ชมสามารถปกป้องตัวเองได้ในระดับหนึ่ง หรือถ้าเป็นเสือที่โตเต็มวัยก็ควรมีโซ่คล้องไว้ เนื่องจากเวลาตกใจจะได้ไม่กระโจนใส่ผู้ที่อยู่รอบข้าง และต้องมีเจ้าหน้าที่ขนาบข้างเพื่อการจัดการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที  ทั้งนี้ เมื่อเห็นเสือเริ่มเครียดและมีพฤติกรรมในข้างต้น ควรปล่อยไปเดินเล่นให้ผ่อนคลายไม่กักตัวไว้" ผู้จัดการสวนเสือศรีราชา ให้คำแนะนำเพิ่ม

นายดุศิษย์กล่าวต่อว่า ไม่ควรด้วยประการทั้งปวงที่จะให้คนอยู่กับเสือเพียงลำพัง โดยมาตรการของสวนเสือศรีราชา แม้แต่การล้างกรงก็ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเอง แต่จะต้อนเข้าสู่กรงข้างเคียงแล้วเอาน้ำฉีด หรือถ้าจำเป็นต้องเข้าในบริเวณที่มีเสือก็ให้พกไม้ และต้องมีเพื่อนเข้าไปคู่กันเผื่อมีเหตุฉุกเฉิน

สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง