FBI เริ่มสอบคดีดักฟังโทรศัพท์
FBI ได้เริ่มการตรวจสอบว่าสื่อมวลชนในเครือข่ายของนายรูเพิร์ท เมอร์ด็อค แอบดักฟังโทรศัพท์ของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อ 10 ปีก่อนหรือไม่ หลังจาก ส.ว.กลุ่มหนึ่งได้ทำหนังสือแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้
แหล่งข่าวจากหน่วยสืบสวนสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (FBI) ระบุว่า การสอบสวนขั้นต้นเกี่ยวกับกรณีการแอบดักฟังโทรศัพท์ของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อ 10 ปีก่อนได้เริ่มขึ้นแล้ว ส่วนสาเหตุที่ FBI ตัดสินใจสอบสวนเรื่องนี้ เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งเกรงว่าสื่อมวลชนในเครือของบริษัทนิวส์ คอร์ปอเรชั่น ที่มีสำนักงานอยู่ในนครนิวยอร์ก อาจจะใช้วิธีการดักฟังโทรศัพท์และแฮ็กข้อมูลเพื่อนำไปเขียนข่าว เหมือนกับหนังสือพิมพ์นิวส์ ออฟ เดอะ เวิล์ดในอังกฤษที่กลายเป็นคดีอื้อฉาว จนหนังสือพิมพ์ถูกปิด ในจดหมายที่กลุ่ม ส.ว.และสมาชิกพรรครีพับลิกันส่งถึงนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ ผู้อำนวยของ FBI ได้แสดงความกังวลว่า ญาติของผู้เสียชีวิตเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 ก.ย.เมื่อ 10 ปีก่อน อาจจะตกเป็นเหยื่อของการดักฟังโทรศัพท์
อย่างไรก็ดีจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุว่ามีการดักฟังโทรศัพท์หรือแฮ็กข้อมูลของญาติผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด
ทั้งนี้บริษัทนิวส์ คอร์ปอเรชั่นในสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในเครืออาณาจักรของนายรูเพิร์ท เมอร์ด็อค มหาเศรษฐีชาวออสเตรเลียที่ถือสัญชาติอเมริกัน สื่อในสหรัฐฯ ที่อยู่ในสังกัดของเขา ได้แก่ นิตยสารวอลล์ สตรีท เจอร์นัล, หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก โพสต์, ดาวน์โจนส์ โลคัล มีเดีย กรุ๊ป, เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าของการไต่สวนคดีดักฟังโทรศัพท์ในอังกฤษ นายเมอร์ด็อคพร้อมด้วยบุตรชายซึ่งเป็นผู้บริหารของหนังสือพิมพ์นิวส์ ออฟ เดอะ เวิล์ด จะเข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษในสัปดาห์หน้า / ขณะที่ตำรวจได้จับกุมนายนีล วอลลิส อดีตบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการดักฟังโทรศัพท์ นับเป็นผู้ต้องสงสัยรายที่ 9 ในคดีนี้
คดีดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อพบว่าผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์นิวส์ ออฟ เดอะ เวิล์ด แอบดักฟังข้อมูลในวอยซ์เมลโทรศัพท์มือถือของเด็กหญิงในอังกฤษที่เป็นเหยื่อการฆาตกรรม และมีการลบข้อมูลในวอยซ์เมลทิ้ง ซึ่งส่งผลต่อการสอบสวนของตำรวจและยังทำให้พ่อแม่ของเด็กเข้าใจผิดว่าบุตรสาวยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังพบว่าบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ดารา และบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างก็ตกเป็นเหยื่อของการดักฟังโทรศัพท์ ในจำนวนนี้รวมถึงนายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษด้วย