เที่ยววัฒนธรรมมอญบ้านเจ็ดริ้ว
กว่า 3 เดือนที่สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ และเยาวชนในบ้านเจ็ดริ้ว ฝึกหัดการรำมอญกระทบไม้ร่วมกัน โดยประยุกต์การละเล่นของกลุ่มชนในสังคมเกษตรกรรม เข้ากับท่วงท่าในพิธีกรรมรำผีมอญแบบดั้งเดิม จนเป็นมอญกระทบไม้ตามแบบฉบับคน 3 วัยบ้านเจ็ดริ้ว
ความนิยมในเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มตน แม้ยังมีอยู่แต่ดูเหมือนว่าจะลดลงจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปค่ะ ในงานส่งเสริมวัฒนธรรมวิถีมอญอย่างงานเล่นสะบ้า ร้องทะแย แลเจ็ดริ้ว ที่บ้านแพ้ว สมุทรสาครช่วงเข้าพรรษาปีนี้ จึงมีการส่งเสริมวัฒนธรรมวิถีผ่านการทำงานระหว่างบ้าน วัดและโรงเรียน
ท่าร่ายรำอ่อนช้อยเข้ากับจังหวะตะโพนมอญของนักเรียนโรงเรียนวัดเจ็ดริ้วในการแสดงรำมอญ 12 ท่า มาจากก่อนหน้านี้ทั้งหมดได้รับการฝึกสอนจากครูภูมิปัญญาที่เชี่ยวชาญด้านการรำมอญในท้องถิ่น ได้มีโอกาสมาแสดงในงานส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมวัดเจ็ดริ้วในงานบุญเข้าพรรษา ยังทำให้คนภายนอกได้เห็นศิลปการแสดงที่ผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขาอีกด้วย
วิถีชีวิต, ภูมิปัญญา, วัฒนธรรม, หัตถกรรม และอาหารพื้นบ้านมอญ นำมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ ที่ลายวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นงานบุญพระใหญ่ มีชาวไทยเชื้อสายมอญมาร่วมงานกันมาก จึงเป็นโอกาสดีที่ได้เผยแพร่ความรุ้สู่กลุ่มคนมอญรุ่นใหม่
ปัจจุบันตำบลเจ็ดริ้วมีชาวไทยเชื้อสายรามัญอาศัยอยู่กว่า 3,000 คน มีประเพณีท้องถิ่นอย่างการล้างเท้าพระ ตักบาตรดอกไม้ และการเทศน์มหาชาติภาษารามัญในช่วงเทศกาลออกพรรษา สืบต่อกันมามากว่า 80 ปี
ขณะที่ชุมชนมอญเล็กๆ แห่งนี้ ไม่ต่างจากชุมชนวัฒนธรรมทั่วไปที่อาจต้องปรับเปลี่ยนไปจากวิถีเดิมบ้าง หากแต่ยังมีกลุ่มคนที่เห็นความหมายของวิถีถิ่น พยายามรักษาแบบแผนเดิมของชุมชนไว้ และนำมาเผยแพร่ในโอกาสเข้าพรรษาปีนี้