แรงงานเคลื่อนไหวคัดค้าน ปรับค่าจ้างแบบลอยตัว
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ระบบค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศ เพราะเป็นการกลับไปสู่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม แม้ว่าปลัดกระทรวงแรงงานจะระบุว่า ทุกอาชีพยังได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพราะเมื่อกำหนดแบบลอยตัว อำนาจจะไปอยู่ที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ลูกจ้างแต่ละอาชีพไม่มีสิทธิต่อรองค่าจ้างให้ตัวเองและเตรียมออกแถลงการณ์คัดค้านในวันพรุ่งนี้ (8 มิ.ย. 2558) พร้อมข้อเสนอ คือ ให้คงค่าจ้างแรกเข้าขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดและให้พิจารณาโครงสร้างค่าจ้างด้วยอายุการทำงานและฝีมือการทำงาน ต้องไม่เท่ากัน รวมถึงจะยื่นหนังสือให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป
คณะกรรมการค่าจ้างเตรียมพิจารณาว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในเดือน ต.ค.นี้ เบื้องต้นศึกษาแนวทางการปรับค่าจ้างไว้ 5 รูปแบบ คือ ให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอปรับอัตรามาตามปกติ ค่าจ้างลอยตัว ค่าจ้างตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด ค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรมและค่าจ้างในลักษณะผสมผสานหลายรูปแบบ รวมทั้งจะนำข้อเสนอเรื่องโครงสร้างค่าจ้างมาพิจารณา
ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เชื่อว่า การปรับค่าแรงแบบลอยตัว จะส่งผลดี เนื่องจากจะเกิดการแข่งขันและกระตุ้นให้แรงงานหันมายกระดับฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มรายได้ แม้ก่อนหน้านี้กลุ่มแรงงานต้องการให้ปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงเป็น 360 บาท รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นว่าที่ผ่านมาราคาสินค้าแทบไม่ได้ปรับตัวขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีและยังติดปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งหากปรับขึ้นเป็น 360 บาท ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถรับภาระนี้ได้