วันนี้ (15 ก.พ.2559) ศาลแพ่งนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากพระพุทธะอิสระ, พล.ต.สมเกียรติ วัฒนวิกย์กิจ, นายชุมพล จุลใส, นายนิติธร ล้ำเหลือ และ นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก เป็นเงินกว่า 2.6 ล้านบาท จากความผิดฐานละเมิด กรณีนำมวลชนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ชุมนุมปิดล้อมอาคารสำนักงานดีเอสไอ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยทั้่งหมดนำมวลชนปิดล้อมอาคารเป็นเวลานานกว่า 5 เดือน ทำให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และจำเป็นต้องไปเช่าสถานที่ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก
ศาลแพ่งจึงพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชดใช้เงินโดยแต่ละคนต้องชดใช้เป็นจำนวนที่แตกต่างกัน รวมเป็นเงินกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งวันนี้ (15 ก.พ.) จำเลยทั้ง 5 คนไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา แต่ส่งทนายความมาเป็นตัวแทน
กปปส. ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2556 โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ และมีการชุมนุมเคลื่อนไหวในช่วงปี 2556-2557 กปปส.ต้องการให้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงจากอำนาจ ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค.2556 และเตรียมจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2257
กปปส.จัดการชุมนุมและปักหลักพักค้างหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และในบางจังหวัด มีการแบ่งเป็นหลายกลุ่มไปปิดล้อมสถานที่ราชการรวมทั้งปิดถนนเพื่อกดดันรัฐบาล การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งคือกิจกรรม "Bangkok Shutdown" ในเดือนมกราคม 2557 ซึ่งยืดเยื้อนานนับเดือนเพื่อให้รัฐบาลรักษาการลงจากอำนาจและเพื่อขัดขวางการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 ซึ่งการขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส.ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในหลายเขต และศาลรัฐธรรมนูญได้ประกาศให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะ กปปส.หยุดเคลื่อนไหวภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557