จากกรณี น้ำตกเหวนรก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก แห้งแล้งจนไม่มีน้ำไหลผ่านหน้าผา ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปี 2559 จะเกิดวิกฤตภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปี
วันนี้ (3 มี.ค.) น.ส.สุภัทรา วรรณภักดี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สะสมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำของน้ำตกคลองลานลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งอันเป็นผลมาจากเอลนีโญในปีนี้ ทำให้น้ำตกคลองลานเหลือเพียงสายน้ำเล็ก ๆ ทางด้านขวาเพียงสายเดียว ซึ่งหากในเร็ววันนี้ ยังไม่มีฝนตกลงมาก่อนช่วงสงกรานต์ หรือฝนเทียมทีทางการทำไว้ก่อนหน้า 1-2 วัน ไม่ได้ผล ก็อาจทำให้น้ำตกคลองลานไม่มีน้ำไหลจากหน้าผาเลย โดยเหตุการณ์น้ำตกแล้งจนไม่มีน้ำเคยเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ สังเกตว่าหน้าแล้งมาเร็วกว่าปกติ โดยหากเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2557-2558 ปริมาณน้ำจะลดลงช่วงเดือน เม.ย. แต่ในปีนี้ ปริมาณน้ำเริ่มน้อยลงตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.
น.ส.สุภัทรากล่าวว่า สถานการณ์ปริมาณน้ำที่แล้งเร็วกว่าปกติ จะไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าในอุทยานฯ เพราะมีแหล่งน้ำอื่น ๆ เพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั้งเรื่องความสวยงามและปริมาณน้ำที่ใช้ในอุทยานไม่เพียงพอ รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเขตอุทยานฯ ที่อาศัยน้ำจากประปาภูเขาหรือลำน้ำสาขาจากอุทยานในการอุปโภคบริโภค
“เบื้องต้นอุทยานฯแก้ปัญหาด้วยการขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ ส่วนสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อยู่ในภาวะควบคุมได้ เพราะมีการวางแผน ทำแนวกันไฟ และจัดเวรยามเฝ้าระวัง โดยเป็นความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่และหลายภาคส่วน อีกทั้งนายอำเภอคลองลาน ยังให้ความสำคัญในเรื่องนี้” ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานคลองลาน ระบุ และกล่าวต่อว่า ในส่วนของอุทยานได้แจ้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊ก และถ่ายรูปน้ำตกผ่านโดรนติดทางทางเข้าอุทยาน เพื่อให้นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางหรือตัดสินใจว่าจะเสียเงินเพื่อเข้าชมอุทยานหรือไม่
ขณะที่ นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ในฐานะ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติเอราวัณประสบปัญหาภัยแล้งเร็วขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 1 เดือนเช่นกัน แต่จากการวางแผนดำเนินงานเพื่อรักษาสภาพป่าต้นน้ำอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ ทั้งการทำฝายกั้นน้ำ ขุดคลองสร้างสระน้ำให้สัตว์ในอุทยานฯ ปลูกป่า สร้างแนวกันไฟ และจัดเวรยามในการตรวจตราเรื่องไฟป่าในพื้นที่ 3 แสนไร่ ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในภาวะควบคุมได้ ทั้งน้ำสำหรับคนและสัตว์ป่า รวมถึงเรื่องไฟป่า
“ที่มีผลกระทบจริง ๆ เป็นเรื่องความสวยงามของน้ำตกเอราวัณ เนื่องจากปริมาณน้ำน้อยลง” นายยุทธพงค์กล่าว
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จ.จันทบุรี เบื้องต้นแหล่งข่าว ระบุว่า คาดว่าวิกฤตแล้งปีนี้ จะไม่ส่งผลต่ออุทยานฯ น้ำตกพลิ้ว เพราะจากการสำรวจพบว่าปริมาณน้ำของน้ำตกและแหล่งน้ำอื่น ๆ ภายในอุทยานฯ แห้งและไหลเบาตามปกติเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง ส่วนเรื่องไฟป่า แม้จะเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการไฟป่าครั้งแรกที่ถัดจากปี 2553-2554 แต่อยู่ในภาวะควบคุมได้ เพราะสาเหตุเกิดจากประชาชนหรือนักท่องเที่ยวลักลอบเข้าพื้นที่ แล้วทิ้งก้นบุหรี่จนเกิดไฟลุกลาม ไม่ได้เกิดจากภัยแล้ง
“สภาพป่าต้นน้ำซึ่งเป็นป่าดิบชื้นยังอุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำจากต้นน้ำชั้นใต้ดินใต้ภูเขายังไหลตามปกติ จึงไม่กังวลเรื่องน้ำตกพลิ้วขาดน้ำ อีกทั้งยังไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นมาก่อน แต่ทางอุทยานฯ ก็เฝ้าระวังทั้งเรื่องน้ำและเรื่องไฟป่า ซึ่งหากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้ ในแบบที่น้ำตกไม่มีน้ำไหล ก็ต้องย้ายปลาในน้ำตกไปไว้ในแหล่งน้ำแห่งอื่นภายในอุทยานฯ แทน ส่วนสัตว์ป่าภายในอุทยานฯ ส่วนมากเป็นสัตว์เล็ก อย่าง เก้ง หรือหมูป่า ไม่ใช่ ช้าง กระทิง หรือวัวแดง จึงไม่ได้ได้รับผลกระทบมากนัก” แหล่งข่าวจากอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วระบุ