วันนี้ (14 มี.ค.2559) พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงพื้นที่เป้าหมายอย่างเข้มงวด หลังจากเกิดเหตุความไม่สงบ 17 จุด ใน จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) ซึ่งตรงกับวันสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 9 คน เป็นเจ้าหน้าที่ 7 คน และพลเรือน 2 คน
พ.อ.ปราโมย์กล่าวประณามพฤติกรรมของกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ใช้โรงพยายาลสร้างสถานการณ์ พร้อมกับเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่เห็นการปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อเหตุทั้งหมด แต่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะเกรงกว่าหากยิงหรือต่อสู้อาจจะเกิดผลกระทบกับผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล ทั้งนี้ยังระบุด้วยว่าคนร้ายแต่งกายคล้ายทหารพราน ปะปนเข้ามาภายในโรงพยาบาล ทำให้ไม่มีใครสงสัย
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.ได้แสดงความห่วงใยสภาพจิตใจของบุคคลากรและผู้ป่วยภายใน รพ.เจาะไอร้อง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และได้สั่งการให้ดูแลเยียวยาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งให้ดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ก่อเหตุ และเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่
ขณะที่ พล.ต.ชินวัตร แม้นเดช รองแม่ทัพภาค 4 เข้าตรวจสอบพื้นที่ รพ.เจาะไอร้องและสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามผู้ก่อเหตุ ด้านหน่วยงานความมั่นคงจังหวัดยะลาเข้าตรวจสอบที่ฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบลยุโป อ.เมือง จ.ยะลา หลังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบซุ่มยิงฐานปฏิบัติการและยิงปะทะเจ้าหน้าที่เมื่อคืนที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบปลอกกระสุนปืนอาวุธสงครามจำนวนมาก จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแสดงความเชื่อมั่นว่า กอ.รมน.ดูแลสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ หลังคนร้ายก่อเหตุไม่สงบหลายจุดใน จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา เมื่อวานนี้ โดยเฉพาะกรณีผู้ก่อเหตุใช้ รพ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โจมตีเจ้าหน้าที่
นายกฯ สั่งเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง
วันนี้ (14 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีคนร้ายก่อความไม่สงบในพื้นที่ จ.นราธิวาส และจ.ยะลา ตั้งแต่ช่วงเย็นถึงกลางคืนเมื่อวานนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการด่วนให้เจ้าหน้าที่เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับประชาชน ตรวจเข้มพื้นที่เสี่ยง เช่น จุดจอดรถหรือบริเวณที่มีประชาชนจำนวนมาก และให้ดูแลผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างเต็มที พร้อมกับกำชับให้ติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิดให้ได้โดยเร็ว
"รัฐบาลยอมไม่ได้กับพฤติกรรมที่อยู่เหนือกฎหมาย โดยจะเร่งปราบปรามผู้ก่อการร้าย ผู้มีอิทธิพล ผู้ค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และค้ามนุษย์ ให้เห็นผลภายใน 6 เดือน เพื่อคืนความสงบสุขสู่สังคม ขจัดปัญหาความรุนแรงหรือการทำลายล้างชีวิตผู้อื่น ผู้ที่กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีโดยเร็ว"
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ ขอให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ เพื่อนำสันติสุขกลับคืนมา โดยผู้ที่มีเบาะแสเกี่ยวกับผู้กระทำผิดให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบโดยด่วน หรือส่งข้อมูลถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้แจ้ง และหากข้อมูลเป็นความจริง และนำไปสู่การทำลายขบวนการได้ รัฐบาลจะมอบรางวัลพิเศษให้กับผู้ที่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง
"ท่านนายกฯ ย้ำว่าการขจัดความเลวร้ายต่าง ๆ ภายใน 6 เดือนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้นั้น ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและการลงทุน ดังนั้นหากพี่น้องชาวใต้ต้องการให้บ้านเมืองดีขึ้นจะต้องร่วมใจกัน อย่าให้ผู้ร้ายที่ทำลายชีวิตทั้งชาวพุทธหรือมุสลิม และแทรกซึมอยู่กับประชาชนมากดดัน คนเหล่านี้จะต้องไม่มีที่ยืนในสังคมอีกต่อไป"
รมว.สธ.เตรียมหารือทหารปรับการรักษาความปลอดภัย รพ.
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุ วันนี้โรงพยาบาลเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ยังเปิดให้บริการตามปกติ และขวัญกำลังใจของแพทย์พยาบาลและบุคคลากรในโรงพยาบาลยังเข้มแข็ง ส่วนพยาบาลที่ถูกจับเป็นตัวประกันเมื่อคืนนี้ ยังอยู่ในอาการตกใจ จึงให้หยุดงานไปก่อน
สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยโรงพยาบาลในพื้นที่นั้นจะมีการหารือร่วมกับตำรวจและทหารอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าโรงพยาบาลควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยตามหลักสากล เพราะให้การดูแลผู้บาดเจ็บผู้ป่วยทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ
กสม.แถลงการณ์ประณามการก่อเหตุใน รพ.
วันนี้ (14 มี.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ประณามการละเมิดหลักการมนุษยธรรม และเรียกร้องให้เคารพเครื่องหมายกาชาด สถานพยาบาลจากเหตุยิงปะทะที่ รพ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
"เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2559 ได้เกิดเหตุความรุนแรงหลายเหตุการณ์และต่อเนื่องหลายพื้นที่ใน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบุกรุกเข้าไปภายในโรงพยาบาลเจาะไอร้อง และคุกคามบุคลากรของโรงพยาบาล รวมทั้งใช้อาคารในโรงพยาบาลเป็นที่มั่นในการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งตั้งฐานอยู่ใกล้เคียง
"คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และปกป้องหลักการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย อันจะละเมิดมิได้ ขอประณามต่อพฤติกรรมดังกล่าวที่ถือเป็นการละเมิดหลักการมนุษยธรรม ซึ่งเป็นกติกาสากลที่สังคมอารยะพึงยึดถือ เพราะแม้แต่ในภาวะสงคราม ทุกฝ่ายยังต้องเคารพเครื่องหมายกาชาด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลอันหมายถึง การให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และมนุษยธรรมอย่างเป็นกลาง โดยไม่เลือกปฏิบัติ ตามกฎบัตรสหประชาชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (Geneva Convention 1949) ระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องเปิดทางโล่ง สะดวก ปราศจากการขัดขวางใดๆ ต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ตลอดจนปกป้องประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่สามารถปกป้องตนเองได้ เช่น เด็ก ผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ และให้การคุ้มครองต่อสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บุคลากร ทางการแพทย์ ผู้รักษาพยาบาลไม่สามารถช่วยเหลือ ดูแล รักษา และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เกิดการหยุดชะงักในการให้บริการ การรักษาพยาบาลแก่ประชาชน สร้างความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกันสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการรักษาพยาบาล ตลอดจนผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย หรือผู้เข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลถูกละเมิดอย่างร้ายแรง"
ทั้งนี้ กสม. ขอเรียกร้องและเสนอแนะให้ทุกภาคส่วนคำนึงและควรปฏิบัติ
1.ขอให้ผู้ที่ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงได้ยุติการกระทำในลักษณะข้างต้นที่ไร้มนุษยธรรม ผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชนในทันที พร้อมวิงวอนขอให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐช่วยกันป้องกัน ยับยั้ง มิให้เกิดการกระทำการละเมิดต่อการรักษาพยาบาลอีกต่อไป และต้องเคารพเครื่องหมายกาชาด สถานพยาบาล การปฏิบัติหน้าที่เพื่อมนุษยธรรมของคณะแพทย์ และสิทธิของผู้บาดเจ็บและผู้ป่วย และขอวิงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องได้โปรดคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม โดยละเว้นการกระทำที่เป็นอุปสรรค ทั้งปวงต่อการดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บทั้งในสถานพยาบาลและในที่เกิดเหตุ
2.รัฐบาลพึงหามาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน ผู้บริสุทธิ์ ซึ่งพึงได้รับการปกป้องและคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อสร้างความมั่นใจและความรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข โดยร่วมมือกับประชาชนในพื้นที่ ในการสร้างระบบการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย การเฝ้าระวัง และการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง
3. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม พร้อมให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ความเสียหาย อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ดำเนินการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัวจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ และขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความอดทน อดกลั้น ไม่ใช้กำลังตอบโต้เข้าไปในโรงพยาบาล กสม.จะติดตามสถานการณ์ ผลการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา และจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบรายละเอียดเหตุการณ์ ตลอดจนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด เพื่อประสานการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ต่อไป