มุมหนึ่งของตู้รถไฟ ไม่ต่างจากห้องสมุดเคลื่อนที่ เพราะมีนักอ่านเกือบ 30 ชีวิต หยิบหนังสือเล่มโปรด ไล่เรียงสายตาตามตัวอักษรไปตลอดเส้นทาง มีเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนถึงจุดหมายปลายทางจากกรุงเทพฯ สู่ จ.นครปฐม
ได้ตัวหนังสือเป็นสื่อ ส่งเสียงทักทายเพื่อนใหม่ ทั้งเรื่องราวของวิญญาณขบถ ที่ฝืนกฎในดินแดนแห่งการลืมในนิยาย "อนุสรณ์สถาน" และมุมมองต่อ 3 จังหวัดชายแดนใต้ผ่านสายตาคนนอกในหนังสือ "มลายูที่รู้สึก" ซึ่ง พิเชฐ วัตตะสิริชัย หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมอ่านหนังสือบนรถไฟ read on a train นำมาบอกต่อ ติดใจร่วมทริปเป็นครั้งที่ 2 เพราะชื่นชอบบรรยากาศการอ่านและเดินทางด้วยรถไฟ
ได้เปลี่ยนบรรยากาศอ่านหนังสือและท่องเที่ยวไปในตัวทั้งการใช้พระราชวังสนามจันทร์ทำกิจกรรมแนะนำหนังสือ หรือเยือนร้านหนังสืออิสระที่ปรับแต่งมาจากบ้านสมัยรัชกาลที่ 6
ขอส่งต่อความเหงาผ่านนิยายดังของฮารุกิ มุราคามิ "นอวีเจียน วู๊ด" หนังสือที่เปลี่ยนชีวิต "วิกรานต์ ปอแก้ว" จากนักอ่านสู่การลงมือเขียน และทำเพจแนะนำหนังสือในโลกออนไลน์ ซึ่งทำให้นักเขียนหน้าใหม่เห็นถึงพลังของของการแบ่งปันและคัดสรรหนังสือโดยนักอ่าน
กิจกรรมอ่านหนังสือบนรถไฟ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยร้านหนังสืออิสระ บุ๊คบุรี ที่เปิดได้เพียง 1 ปีเศษ หากข้อจำกัดด้านสถานที่ จึงไม่สามารถสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนได้ การจัดกิจกรรมนอกสถานที่ จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สร้างภาพจำและจุดเด่นให้กับร้านหนังสือน้องใหม่ ไปพร้อมกับการจุดประกายการอ่าน ท่ามกลางยุคสมัยที่วงการน้ำหมึกยังคงซบเซา