วันนี้ (24 มี.ค.) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความคิดเห็น กลุ่มตัวอย่างเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 1,200 ตัวอย่าง พบว่า เกษตรกรตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะชาวนาในภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ จึงพยายามปรับตัว ทั้งหาอาชีพเสริม และเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแล้ว แต่ยังบรรเทาผลกระทบไม่ได้มากนัก เพราะต้นทุนการเพาะปลูกสูงจากการหาแหล่งน้ำ เศรษฐกิจชะลอ กระทบคุณภาพ และราคาขายผลผลิตเช่นเคย จึงหันไปหาเงินกู้นอกระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 มาอยู่ที่เฉลี่ยครัวเรือนละ 167,000 บาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 7 ปี นับจากการเริ่มสำรวจ จึงเสนอให้รัฐบาลจัดหาแหล่งน้ำ ยกระดับราคาสินค้าเกษตร และสร้างรายได้เกษตรกรให้มั่นคง
ส่วนผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ซึ่งสำรวจความเห็นผู้ประกอบการจำนวน 400 ตัวอย่าง พบว่า ภัยแล้งไม่ได้กระทบภาคธุรกิจทางตรงเหมือนเกษตรกร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น กระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค และบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลาง โดยเฉพาะ ในกลุ่มภาคเกษตร และการค้า หลังยอดขายลดลง ร้อยละ 13.9 แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และเกรงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจจะไม่จ้างงานใหม่ พร้อมเรียกร้องให้ยืดเวลาชำระหนี้ และกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ เป็นต้น
ก่อนประเมินความสูญเสียด้านธุรกิจ ทั้งทางตรง และทางอ้อม คิดเป็นมูลค่ากว่า 41,000 ล้านบาท รวมกับผลกระทบในภาคเกษตร คิดเป็นมูลค่ากว่า 119,000 ล้านบาท คิดเป็นผลกระทบต่อจีดีพี ร้อยละ 0.85 กรณีภัยแล้ง ถึงเดือนมิ.ย.2559 จึงสนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ทั้งจ่ายเงินโบนัสข้าราชการ กินเที่ยวช่วยชาติ รวมทั้งโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อกระตุ้นการลงทุนในท้องถิ่น นอกจากนี้ หอการค้าไทยยังสำรวจความเห็นพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.3 เห็นด้วยที่จะลดวันเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์นี้