คนขับรถเเท็กซี่หลายคนที่ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้พูดคุยต่างยอมรับว่า เคยปฏิเสธผู้โดยสาร โดยสาเหตุหลักมาจากไม่ต้องการไปเส้นทางที่รถติด เนื่องจากโครงสร้างอัตราค่าโดยสารเเท็กซี่ในปัจจุบันไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปกับการจราจรที่ติดขัด โดยเส้นทางที่ปฏิเสธมากที่สุดคือถนนพหลโยธิน ลาดพร้าว สีลม ซึ่งไม่เเน่ใจว่าการขึ้นค่าโดยสารจะแก้ปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารได้หรือไม่
การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะยังคงมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่ยังไม่มีรถของตัวเอง ดังนั้นจึงมีผู้ใช้บริการร้องเรียนมายังศูนย์ 1584 อยู่สม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผู้ร้องเรียนมีสูงถึง 14,912 ครั้ง โดยประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากสุดคือปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่สุภาพ ขับรถประมาทและไม่กดมิเตอร์ จึงทำให้กระทรวงคมนาคมชะลอการขึ้นค่าโดยสารของรถแท็กซี่ที่ยังเหลืออยู่ร้อยละ 5
การขนส่งทางบกได้มีมาตรการลงโทษเเท็กซี่ที่กระทำผิดกฏตั้งเเต่เบาไปจนถึงสูงสุดคือ การเปรียบเทียบปรับ พักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ได้ลงโทษพักใช้ใบอนุญาตขับรถไปแล้วจำนวน 266 คน
ในปี 2560 จะมีการออกมาตรการเพิ่มโทษแท็กซี่ให้รุนแรงมากขึ้น รวมถึงจะจัดระเบียบรถแท็กซี่ให้อยู่ในรูปสหกรณ์ทั้งหมดเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ หากพบแท็กซี่กระทำผิดจะดำเนินการลงโทษไปยังผู้ประกอบการที่กำกับดูแลด้วย ขณะเดียวกันช่วงนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นค่าโดยสารเเท็กซี่รอบ 2 ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมกัน โดยต้องมีความเป็นธรรมในการให้บริการ หากมีต้นทุนสูงก็ต้องคิดค่าโดยสารให้เหมาะสม
สะท้อนจากความเห็นของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ระบุว่า ระยะนี้ยังจะไม่มีการปรับโครงสร้างอัตราค่าใช้บริการและให้กลับไปตรวจสอบผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการเพื่อนำกลับมาพิจารณาใหม่ รวมทั้งขณะนี้ราคาน้ำมันลดลงก็คาดว่าจะช่วยให้แท็กซี่มีรายจ่ายลดลงตามไปด้วย
เเต่จำนวนเเท็กซี่ในระบบที่สูงกว่า 100,000 คัน ทำให้การเเข่งขันรุนเเรง การปรับขึ้นค่าโดยสารอาจไม่ส่งผลให้เเท็กซี่มีรายได้เพิ่มขึ้นและหากแพงขึ้นผู้โดยสารอาจหันไปเลือกใช้บริการรถขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นแทน
มาตรฐานการให้บริการที่เหมาะสมกับราคาที่ผู้โดยสารต้องจ่าย คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้โดยสารยอมรับค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นและยังเลือกใช้บริการเเท็กซี่ต่อไป โดยไม่หันไปพึ่งพาระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นทดเเทน